×

บล๊อก  

แสงสว่างในการจัดนิทรรศการ โดย นางสาวอริสรา อำนวยชัยเกิดลาภ, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

แสงสว่างในการจัดนิทรรศการ

พิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจในเนื้อหาที่พิพิธภัณฑ์จัดทำขึ้น ซึ่งรูปแบบวัตถุในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป เช่น โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ ของสะสม เป็นต้น ซึ่งการจัดแสดงสามารถจัดเป็นการแสดงแบบถาวรหรือจัดแสดงแบบหมุนเวียนได้ การจะดึงดูดผู้เข้าชมให้สนใจในวัตถุนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกันไม่ว่าจะเป็น หัวข้อหรือเนื้อหาในการจัดแสดง วัตถุจัดแสดง รูปแบบการจัดวางวัตถุ การออกแบบห้องจัดแสดงวัตถุ รวมไปถึงแสงไฟในการจัดแสดงด้วย

แสงสว่างในห้องจัดนิทรรศการมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้เข้าชมให้สนใจในวัตถุจัดแสดงมากขึ้น แต่นอกจากนั้นแสงสว่างในห้องจัดนิทรรศการยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัตถุเกิดการซีดจางของสี แห้ง แตกเปราะ และเสื่อมสภาพไปอย่างถาวร หากวัตถุเกิดการเสื่อมสภาพไปแล้วจะไม่สามารถกลับมามีสภาพดั่งเดิมได้ ซึ่งการป้องกันวัตถุจากแสงสว่างและทำให้วัตถุมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมนั้นจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเรื่องของแสงกับการอนุรักษ์วัตถุจัดแสดงที่ดีพอ หากมีการใช้แสงในการจัดแสดงนิทรรศการที่ไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน หากมีการใช้แสงอย่างเหมาะสมก็จะทำให้วัตถุคงอยู่ในสภาพเดิมได้นานยิ่งขึ้น

การจัดแสงสว่างจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการติดตั้งนิทรรศการ เนื่องจากต้องควบคุมให้แสงสว่างภายในห้องจัดแสดงและตู้จัดแสดงเป็นไปตามค่าความเข้มแสงที่ไม่เกินมาตรฐานกำหนด และยังต้องจัดแสงเพื่อ สร้างความสวยงาม จุดเด่น และบรรยากาศให้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการ

ทฤษฏีแสง

แสงเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งความยาวคลื่นที่สามารถทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นได้อยู่ที่ 380-760 นาโนเมตร (nanometers) สีของแสงที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ประกอบด้วย 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ถ้าพลังงานของแถบสีมีความสมดุลจะทำให้มีแสงสีขาวออกมีเพียงสีเดียว นอกจากนี้ความยาวคลื่นที่สั้นกว่า 380 นาโนเมตร จะอยู่ในรูปแบบของ รังสีอัตราไวโอเลต (Ultraviolet) รังสีเอ็กซ์ (x-rays) ฯลฯ และ ความยาวคลื่นที่ยาวกว่า 760 นาโนเมตร จะอยู่ในรูปแบบ คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์และพลังงานไฟฟ้า แต่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้


ภาพแสดงสเปคตรัมของแสงความถี่และความยาวคลื่อนของพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

พฤติกรรมของแสง

พฤติกรรมของแสงแบ่งได้ดังนี้

1. การสะท้อน (reflection) เป็นพฤติกรรมของแสงที่ส่องไปกระทบผิวตัวกลางลักษณะต่างๆ กันและสะท้อนตัวออก หากแสงไปตกกระทบผิวตัวกลางที่มีลักษณะผิวเรียบและมัน การสะท้อนจะเป็นไปตามที่ว่า มุมตกกระทบ เท่ากับ มุมสะท้อน


ภาพแสดงการสะท้อนของแสง

2. การหักเห (refraction) เป็นพฤติกรรมของแสงที่ผ่านตัวกลางโปร่งแสง มีผลทำให้แสงหักเหออกแนวเดิม


ภาพแสดงการหักเหของแสง

3. การกระจาย (diffusion) เป็นพฤติกรรมของแสงเมื่อกระทบถูกผิวของตัวกลาง

4. การทะลุผ่าน (transmission) เป็นพฤติกรรมของแสงที่ส่องทะลุผ่านตัวกลางไปอีกด้านหนึ่งโดยไม่มีการหักเหของแสง


ภาพแสดงการทะลุผ่านของแสง

5. การดูดกลืน (absorbtion) เป็นปรากฎการณ์ที่แสงไปกระทบตัวกลางแล้วถูกดูดกลืนหายเข้าไปในตัวกลางบางส่วนในรูปของสีของแสงและปล่อยออกไปให้เฉพาะสีของแสงที่ไม่ต้องการ


ภาพแสดงการดูดกลืนของแสง

แหล่งกำเนิดแสง

1. แสงธรรมชาติ เช่นดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดแสงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สิ่งมีชีวิต เช่น หิ่งห้อย ปลาบางชนิด

2. แสงประดิษฐ์ เป็นแหล่งกำเนิดที่มาจากการเปลี่ยนแปลงพลังงานรูปแบบอื่นมาเป็นพลังงานแสง หลอดไฟฟ้าที่นิยมใช้กันตามบ้านเรือนมี 2 ชนิด คือ หลอดไฟฟ้าแบบไส้ และหลอดเรืองแสงหรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ ในจำนวนวัตต์ที่เท่ากัน หลอดเรืองแสงจะให้ความสว่างมากกว่าหลอดไส้ 3-4 เท่า

คุณสมบัติและรายละเอียดหลอดไฟแต่ละชนิด

1. หลอดอินแคนเดสเซนต์ (Incandescent Lamp) เป็นหลอดมีไส้ที่มีประสิทธิผล (Efficacy) ต่ำและมีอายุการใช้งานสั้นในเกณฑ์ประมาณ 1,000-3,000 ชั่วโมง หลอดประเภทนี้มีอุณหภูมิสีประมาณ 2,800 เคลวิน(K) แต่ให้แสงที่มีค่าความถูกต้องของสี


ภาพแสดงหลอดอินแคนเดสเซนต์แบบบต่างๆ

2. หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Tube) เป็นหลอดปล่อยประจุความดันไอต่ำ สีของหลอดมี 3 แบบคือ daylight, cool white และ warm white ชนิดของหลอดชนิดนี้ที่ใช้งานกันทั่วไปคือแบบ Linear ขนาด 18 และ 36 วัตต์ และ Circular 22 32 และ 40 วัตต์ และมีประสิทธิผลประมาณ 50-90 ลูเมนต่อวัตต์ ถือว่าสูงพอสมควรและประหยัดค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับหลอดอินแคนเดสเซนต์ซึ่งมีค่าประมาณ 5-13 ลูเมนต่อวัตต์และมีอายุการใช้งาน 9,000-12,000 ชั่วโมง


ภาพแสดงหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบต่างๆ

3. หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Compact fluorescent lamp) เป็นหลอดปล่อยประจุความดันไอต่ำสีของหลอดมี 3 แบบ คือ daylight, cool whiteและ warm white เช่นเดียวกันกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบที่ใช้งานกันมากคือหลอดเดี่ยว มีขนาดวัตต์ 5 7 9 11 วัตต์และ หลอดคู่ มีขนาดวัตต์ 10 13 18 26 วัตต์ เป็นหลอดที่พัฒนาขึ้นมาแทนที่หลอดอินแคนเดสเซนต์ โดยมีประสิทธิผลสูงกว่าหลอดอินแคนเดสเซนต์ คือประมาณ 35-80 ลูเมนต่อวัตต์และอายุการใช้งานประมาณ 7,500-10,000 ชั่วโมง


ภาพแสดงหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์แบบต่างๆ

4. หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal halide) หลอดเมทัลฮาไลด์ก็เหมือนกับหลอดปล่อยประจุอื่นๆ แต่มีข้อดีที่ว่ามีสเปกตรัมแสงทุกสี ทำให้สีทุกชนิดเด่นภายใต้หลอดชนิดนี้ นอกจากความถูกต้องของสีที่สูงแล้ว แสงที่ออกมาก็อาจมีอุณหภูมิสีตั้งแต่ 3,000-4,500 เคลวิน(K) ขึ้นอยู่กับขนาดของวัตต์ส่วนใหญ่นิยมใช้กับสนามกีฬาที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ มีอายุการใช้งานประมาณ 8,000-15,000 ชั่วโมง และมีขนาดวัตต์ 100 125 250 300 400 700 และ 1,000 วัตต์


ภาพแสดงหลอดเมทัลฮาไลด์

5. หลอดแออีดี (LED) หลอดชนิดนี้มีชื่อเต็มว่า Light Emitting Diode เรียกย่อๆว่า LED เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากสารกึ่งตัวนำ มีลักษณะโครงสร้างภายในเป็นรอยต่อของสาร p และสาร n หรือที่เราเรียกว่า pn Junction เหมือนกับไดโอด สีของแสงที่เปล่งออกมานั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของสารกึ่งตัวนำที่ใช้ หลอดชนิดนี้ใช้งานกับไฟฟ้ากระแสตรงดังนั้นหากจะนำมาใช้ในอาคารต้องมีอุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นกระแสตรงก่อนการใช้งาน หลอดLED มีค่าประสิทธิผลอยู่ที่ประมาณ 40 ถึง 45 Im/W การเพิ่มกำลังการส่องสว่างของ LED ทำได้โดยการต่อ LED เล็กๆหลายหลอดไว้บนแผงเดียวกัน โดยมักจะนำทาใช้แทนหลอดทังสเตนฮาโลเจนหรือนำไปใช้เป็นไฟส่องเฉพาะจุด เนื่องจากไม่มีการแผ่รังสียูวีและอินฟราเรด


ภาพแสดงหลอดแลดอีดี (LED)

6. หลอดทังสเตนฮาโลเจน (Halogen) เป็นหลอดที่อาศัยการกำเนิดแสงจากความร้อนโดยการให้กระแสไหลผ่านไส้หลอดที่ทำด้วยทังสเตนร้อน แล้วเปล่งแสงออกมา เช่นเดียวกับหลอด อินแคนเดสเซนต์ (incandescent) ต่างกันตรงที่มีการบรรจุสารตระกูลฮาโลเจน ได้แก่ ไอโอดีน คลอรีน โบรมีน และฟลูออรีนลงในหลอดแก้วที่ทำด้วยควอทซ์ สารที่เติมเข้าไปนี้จะป้องกันการระเหิดตัวของไส้หลอด ซึ่งทำงานที่อุณหภูมิสูงประมาณ 3,000-3,400 เคลวิน(K) ช่วยให้หลอดมีอายุยาวนานขึ้นกว่าหลอดอินแคนเดสเซนต์ (incandescent) ราว 2-3 เท่า คือ 1,500-3,00 ชั่วโมง มีประสิทธิผลสูงกว่าหลอด incandescent คือประมาณ 12-22 Im/W และสีของลำแสงขาวกว่าคืออุณหภูมิสีประมาณ 2,800 เคลวิน(K) ทำให้มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีสูงถึง 100% ปกติหลอดจะมีลักษณะยาวตรง แต่ก็มีรูปทรงอย่างอื่นเพื่อให้เหมาะกับลักษณะงานที่ต่างกัน เช่นหลอดที่ใช้ในเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะหรือเครื่องฉายสไลด์เป็นต้น

ภาพแสงหลอดฮาโลเจน

ความเข้มแสง

การวัดค่าความเข้มแสงจะมีการใช้ค่าหลายค่า เช่น ค่าแรงเทียน ลูเมน และลักซ์

แรงเทียน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า candle power มีหน่วยวัดเป็น cd หรือ candle 1 cd มีความหมายว่า เมื่อนำเอาแหล่งกำเนิดแสงมาวางไว้ที่วัตถุทรงกลม มีรัสมี 1 ฟุต ใน พื้นที่ 1 ตารางฟุต จะวัดความสว่างได้เท่ากับ 1 ฟุต-แคนเดิล (1 fc หรือเท่ากับ 1 lumen/ft2) ซึ่งหมายความว่า ในพื้นที่ทรงกลม 1 ตารางฟุต จะมีแสงตกมา 1 เส้น หรือ 1 ลูเมน

ลูเมน (lumen) เป็นค่าที่ใช้ในการวัด ฟลักซ์ (flux) ซึ่งเป็นค่าของพลังงานที่เกิดมาจากแหล่งกำเนิดแสงนั้นๆ เท่าไหร่ ในเวลาหนึ่งๆ โดยการวัดจะวัดเฉพาะแสงที่สายตามนุษย์สามารถมองเห็นได้ ไม่ได้วัดค่าพลังงานทั้งหมด

ลักซ์ (lux) เป็นการวัดค่าความส่องสว่างที่เรียกว่า illumination ซึ่งมีความแตกต่างจาก ฟลักซ์ (flux) เพราะเป็นค่าพลังงานที่ออกมาจากจุดกำเนิด แต่ illumination เป็นพลังงานแสงที่ตกกระทบพื้นผิว

Power consumption จะถูกวัดออกเป็นค่า wattage หรือ watt ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความส่องสว่างของหลอดไฟ ยิ่งวัตต์มาก แสงก็จะยิ่งมีความเข้มกว่าวัตต์น้อย แต่ก็ไม่ได้คงค่านี้เสมอไปเช่นกัน

ปริมาณแสง

การวัดปริมาณแสงที่นิยมใช้คือ การวัดในรูปของเส้นแรงของแสงซึ่งมีหน่วยการวัดเป็น ลูเมน(lumen) และหน่วยที่แสดงการส่องสว่างจะใช้หน่วยเป็น ลักซ์ (lux) สำหรับการบอกค่าปริมาณแสงของหลอดใดๆ มักจะบอกออกมาในรูปแบบของ ลูเมน(lumen) อย่างเช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์สี cool white 36 W.1 หลอดจะมีค่า lumen output อยู่ที่ประมาณ 3,000 ลูเมน(lumen) โดยประสิทธิภาพจากหลอดไฟนั้นสามารถพิจารณาขึ้นได้จากเส้นแรงของแสงที่ถ่ายพลังงานออกมาจากหลอดต่อกำลังวัตต์ของหลอดไฟนั้นๆ ทั้งนี้เรียกว่า Efficacyหรือ ค่าประสิทธิผล โดยมีหน่วยเป็น Lumen/Watt

เครื่องวัดความเข้มแสง (Lux Light Meter)

เครื่องวัดความเข้มของแสง(Lux Meter) บางครั้งเรียกว่าเครื่องวัดแสง (Light Meter) ซึ่งใช้วัดความเข้มแสงที่แตกต่างด้วยตามนุษย์ เครื่องวัดแสงส่วนใหญ่ใช้ตัวตรวจวัดแสงด้วย โฟโตดีเทกเตอร์(photodetector) ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับแหล่งกำเนิดแสงที่ดีที่สุดสำหรับการเปิดรับความถี่ของแสง จากนั้นเครื่องวัดจะอ่านค่าและแปลผลความสว่างให้กับผู้ใช้ผ่านหน้าจออนาล็อกหรือดิจิตอลแอลซีดี

เครื่องวัดความเข้มแสง คือเครื่องมือที่ใช้วัดค่าปริมาณของแสงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือแสงที่เราสามารถมองเห็นและแสงที่เกิดจากการประดิษฐ์ขึ้น มีหน่วยวัดค่าเป็น ลักซ์ (LUX) และฟุตแคนเดิล (Foot Candle) โดยเครื่องวัดค่าความเข้มแสงในปัจจุบันถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย มีความรวดเร็วในการวัด สามารถพกพาได้สะดวกและมีความแม่นยำสูง ซึ่งเหมาะกับการวัดในโกดัง, โรงงานอุตสาหกรรม, ห้องสมุด, การถ่ายภาพ, พิพิธภัณฑ์หอศิลป์, สนามกีฬา เป็นต้น

เครื่องวัดความเข้มแสง สามารถเลือกใช้งานให้ตรงกับชนิดของแสงที่ต้องการวัดได้อีกด้วย โดยเครื่องวัดค่าความเข้มแสง ที่สามารถเลือกชนิดแสงได้ที่นิยมใช้งานในปัจจุบันมีดังนี้

1. เครื่องวัดความเข้มแสง LED เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความเข้มแสง LED โดยตรง ซึ่งสามารถเลือกชนิดของสี LED ได้


ภาพแสดงเครื่องวัดความเข้มแสง LED

2.เครื่องวัดความเข้มแสงทั่วไป เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความเข้มแสงทั่วไปตามสำนักงาน, ห้องเรียนและโรงงาน


ภาพแสดงเครื่องวัดความเข้มแสงทั่วไป

การจัดแสงในพิพิธภัณฑ์และงานอนุรักษ์วัตถุ

ระบบแสงสว่างหลัก แบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้

1.แสงสว่างทั่วไป (General Lighting) หมายถึงการให้แสงสว่างกระจายทั่วไปทั้งบริเวณพื้นที่จัดแสดงอย่างสม่ำเสมอในระดับความส่องสว่างที่เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น การให้แสงสว่างในห้องจัดแสดงประเภทกึ่งถาวร

2.แสงสว่างเฉพาะบริเวณ (Localized Lighting) หมายถึงการให้แสงสว่างเฉพาะบริเวณส่วนจัดแสดงที่ไม่ต้องการความส่องสว่างสม่ำเสมอทั่วทั้งห้อง พื้นที่นอกจากนั้นเป็นเพียงแสงจากกระจายจากตำแหน่งที่ใช้งานที่ให้ความส่องสว่างตามความเหมาะสมของแต่ละชิ้นงาน เช่น การให้แสงสว่างกับวัตถุที่จัดแสดงในกรอง ตู้หรือในผนัง

3.แสงสว่างเฉพาะที่ (Local Lighting) การให้แสงสว่างในประเภทส่วนจัดแสดงนี้ ให้แสงกระจายทั่วทั้งห้องโดยไม่จำเป็นต้องมีความส่องสว่างสูงเท่ากับเกณฑ์มาตรฐาน แต่เป็นการใช้แสงกระจายทั่วบริเวณในระดับต่ำกว่าความส่องสว่างตามมาตรฐานที่ต้องการใช้งาน โดยเสริมความส่องสว่างจากดวงโคมที่ติดตั้งเฉพาะที่จัดแจง เพื่อให้ได้ระดับความสว่างที่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะใช้กับการจัดแสดงที่ต้องการระดับความสว่างสูง

ระบบแสงสว่างรอง แบ่งเป็น 5 ประเภทดังนี้

1.แสงสว่างเพื่อการส่องเน้น (Accent Lighting) เป็นการส่องเน้นวัตถุเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เช่น การส่องเน้นวัตถุจัดแสดงชิ้นเด่น

2.แสงสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศ (Effect Lighting) เป็นการใช้แสงสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ส่องวัตถุจัดแสดงโดยตรงเช่น การสร้างรูปแบบต่างๆ ด้วยแสงบนผนังห้อง

3.แสงสว่างเพื่อการตกแต่งให้สวยงาม (Decorative Lighting) เป็นแสงที่ได้จากดวงโคมหรือหลอดไฟชนิดที่ให้แสงสวยงาม เพื่อสร้างจุดสนใจในการตกแต่ง

4.แสงเพื่อเน้นงานสถาปัตยกรรม (Architectural Lighting) เป็นแสงที่ให้ความสว่างเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรม

5.แสงสว่างเพื่อการสร้างอารมณ์ (Mood Lighting) เป็นแสงที่ใช้เพื่อช่วยให้เกิดอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยการใช้สวิทหรี่แสงเพื่อสร้างบรรยากาศหรือให้ได้ระดับความส่องสว่างตามความต้องการ

แสงในงานอนุรักษ์วัตถุจัดแสดง

แสงเป็นตัวทำลายวัตถุให้เกิดความซีดจาง แห้ง และแตกเปราะ การเสื่อมสภาพนี้จากแสงและความร้อนจะเป็นการเสื่อมสภาพแบบสะสม ซึ่งหากวัตถุเกิดความเสียหายมักไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในรูปแบบเดิมได้ การเสื่อมสภาพมากน้อยจะขึ้นอยู่กับชนิดของผ้า ชนิดของสีย้อม ระยะเวลาที่ได้รับแสงหรือรังสี และปริมาณรังสีที่ได้รับ แต่ในการอนุรักษ์วัตถุจัดแสดงสามารถป้องกันความเสียหายได้โดยการลดความเข้มแสงและควบคุมระยะเวลาในการให้แสงสว่างแก่วัตถุ เนื่องจากแสงมีทั้งความร้อน รังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีอินฟราเลต นอกจะมีผลต่อการเสื่อมสภาพของวัตถุแล้วความร้อนหรืออุณหภูมิยังมีผลทำให้แมลง จุลินทรีย์ เจริญเติบโตแพร่ขยายได้อย่างรวดเร็วและส่งผลให้วัตถุอาจเกิดการเสียหายจากแมลงได้ การลดความเสียหายของวัตถุทำได้โดยการออกแบบแสงสว่างและการกำหนดค่าความเข้มแสงที่ใช้กับวัตถุจัดแสดง ซึ่งระดับแสงที่แนะนำมีดังนี้

50 lux หรือน้อยกว่า เหมาะสำหรับวัตถุที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด เช่น สิ่งทอ ภาพถ่ายสีน้ำ เป็นต้น

150 lux หรือน้อยกว่า เหมาะสำหรับวัตถุที่มีความละเอียดอ่อนปานกลาง เช่น หนังสือพิมพ์ กระดาษ ไม้ หรือวัตถุที่ทาสีเป็นต้น

500 lux หรือน้อยกว่า เหมาะสำหรับวัตถุที่ไม่ไวต่อแสง เช่น แก้วเซรามิค โลหะ หิน เป็นต้น

การควบคุมความเสียหายของแสงและรังสีอัลตราไวโอเลต(UV)
• หากในพื้นที่จัดแสดงมีหน้าต่างให้ติดตั้งผ้าม่าน บานปิด หรือมู่ลี่ ปิดให้สนิททุกครั้ง
• ปิดไฟเมื่อไม่มีผู้เข้าเยี่ยมชม
• จัดแสดงวัตถุที่มีความละเอียดอ่อนให้อยู่ห่างจากหน้าต่าง และจัดแสดงในพื้นที่ที่มีระดับแสงต่ำที่สุด
• ปรับระบบแสงสว่างให้อยู่ภายระดับที่แนะนำ
• ตรวจสอบตู้จัดแสดงเป็นประจำเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแสง
• อย่าจัดแสดงวัตถุที่ไวต่อแสงไว้เป็นระยะเวลานาน ควรมีการหมุนเวียนหรือสลับวัตถุจัดแสดงเพื่อลดความเสียหาย

การลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรังสีอัลตราไวโอเลต(UV)
• ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านบน หากรังสีอัลตราไวโอเลตของหลอดฟลูออเรสเซนต์เกิน 75 ไมโครวัตต์ต่อลูเมน ให้เลื่อนฟิลเตอร์ยูวี (UV) พลาสติกใสปิดบริเวณหลอดไฟหากหลีกเลี่ยงแสงจากหน้าต่างไม่ได้ให้ติดตั้งฟิลเตอร์ยูวี(UV) แบบใสหรือแบบย้อมสีบนหน้าต่าง

การลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแสงในพื้นที่จัดเก็บ
• หน้าต่างจะต้องปิดสนิทอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่จัดเก็บ และปิดไฟทุกครั้งเมื่อไม่มีการใช้งาน
• จัดเก็บวัตถุในตู้หรือกล่องที่มิดชิดแสงสว่างไม่สามารถเข้าถึงได้

การจัดแสงนิทรรศการและงานอนุรักษ์วัตถุในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ

นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นนิทรรศการแบบหมุนเวียน ซึ่งวัตถุจัดแสดงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อหาของนิทรรศการหรือเปลี่ยนไปตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็นควร ในการเปลี่ยนนิทรรศการก็จะต้องมีการออกแบบภายในห้องจัดแสดงใหม่เล็กน้อยเช่น ผนัง เพดาน เป็นต้น ทำให้ต้องมีการจัดแสงสว่างใหม่ทุกครั้ง เนื่องด้วยวัตถุภายในตู้จัดแสดงที่เปลี่ยนไป ตำแหน่งการวางวัตถุ บรรยากาศภายในห้องจัดแสดงที่เปลี่ยนไป ซึ่งการจัดแสงสว่างจะต้องมีผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ภัณฑารักษ์ และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ คอยควบคุมการจัดแสงสว่างเสมอ เนื่องจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯและภัณฑารักษ์จะคอยควบคุมในเรื่องของภาพลักษณ์ภายในห้องจัดแสดง ส่วนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะทำหน้าที่ตรวจสอบค่าความเข้มแสงโดยใช้เครื่องวัดค่าความเข้มแสง วัดบริเวณวัตถุโดยแสงที่ตกกระทบวัตถุต้องมีค่าความเข้มแสงไม่เกินมาตรฐานกำหนด

การออกแบบห้องจัดแสดง

ห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือวิธีการนำเสนอนิทรรศการของภัณฑารักษ์ ซึ่งห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ นั้นค่อนข้างที่จะได้รับแสงจากธรรมชาติน้อยมาก แสงสว่างส่วนใหญ่จึงได้จากแสงประดิษฐ์ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ง่ายกว่า เนื่องจากแสงธรรมชาตินั้นมนุษย์ไม่สามารถควบคุมความสว่าง ความร้อน ฯลฯ ได้เลย ทำให้วัตถุอาจเกิดอันตราย เพราะฉะนั้นการออกแบบห้องจัดแสดงจึงมีความสำคัญต่อการจัดแสดงวัตถุ

แสงสว่างที่ใช้ภายในห้องจัดแสดง

แสงสว่างที่ใช้ภายในห้องจัดแสดงจะใช้เป็นหลอดประดิษฐ์ 2 ชนิด คือ หลอดทังสเตนฮาโลเจน และ หลอดแอลอีดี นอกจากนั้นภายในห้องจัดแสดงยังมีจอแสดงภาพและโปรเจคเตอร์อีกด้วย

1. หลอดทังสเตนฮาโลเจน (Halogen) จะใช้ภายนอกตู้จัดแสดงเป็นแสงสว่างที่สร้างบรรยากาศภายในห้องจัดแสดง เพิ่มความสว่างให้แก่ห้องจัดแสดง รวมไปถึงวัตถุภายในตู้จัดแสดงด้วย
2. หลอดแอลอีดี (LED) จะใช้ภายในตู้จัดแสดงเพื่อเพิ่มความสว่าง ความสวยงามให้แก่วัตถุจัดแสดง โดยค่าความเข้มแสงจะไม่เกินมาตรฐานกำหนด
3. จอแสดงภาพและจอโปรเจคเตอร์ ในส่วนของแสงจากจอเหล่านี้จะมีอยู่แถบทุกจุดภายในห้องจัดแสดง ซึ่งแสงสว่างของจอนั้นมีผลต่อวัตถุเช่นกัน จึงต้องมีการเปิดจอแสดงภาพควบคู่ไปกับการตรวจวัดค่าความเข้มแสง

วิธีการจัดแสงสว่างภายในห้องจัดแสดงและการตรวจวัดค่าความเข้มแสง
ในพ.ศ.2564 พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวาครั้งที่ 2 และ นิทรรศการด้วยพลังแห่งรัก ซึ่งทั้งสองนิทรรศการมีการจัดตำแหน่งแสงสว่างที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวาครั้งที่ 2

นิทรรศการผ้าบาติกจะมีการใช้แสงสว่างทั้งในตู้จัดแสดงและภายนอกตู้จัดแสดง โดยภายในตู้จัดแสดงจะใช้หลอดไฟแอลอีดี ส่วนภายนอกตู้จัดแสดงจะใช้หลอดทังสเตนฮาโลเจน โดยการจัดแสงสว่างจะจัดภายในตู้จัดแสดงก่อน จากภาพด้านล่างจะพบว่าแสงที่ใช้ภายนอกตู้จัดแสดงนั้นจะใช้จำนวนหลอดไฟน้อยมาก แต่ภายในห้องจัดแสดงจะมีแสงจากแสงไฟที่อยู่บริเวณเสาเป็นไฟเพื่อสร้างบรรยากาศและแสงไฟจากจอโปรเจคเตอร์ หลอดไฟภายนอกตู้จะปรับองศาให้แสงกระจายอยู่บนวัตถุจัดแสดงเท่าๆกัน ส่วนไฟภายในตู้จัดแสดงจะมีการปรับองศาให้แสงกระจายทั่วทั้งตู้ ซึ่งไฟทั้งหมดจะต้องถูกควบคุมความสว่างเพื่อไม่ให้ค่าความเข้มแสงเกินมาตรฐานกำหนด


ภาพแสดงแสงที่ใช้ภายในตู้จัดแสดง


ภาพแสดงแสงที่ใช้ภายนอกตู้จัดแสดง


ภาพแสดงบรรยากาศภายในห้องจัดแสดง

นิทรรศการด้วยพลังแห่งรัก

นิทรรศการด้วยพลังแห่งรักแสงสว่างส่วนใหญ่จะอยู่ภายนอกตู้จัดแสดงหมายเลข 4 ห้องจัดแสดง2 ที่จะมีระบบไฟควบคุมแทนการหมุนหรือปรับองศาของแสง ซึ่งแสงไฟที่ใช้จะมีการหมุนปรับองศาเข้าหาตู้จัดแสดงโดยให้แสงกระจายรอบวัตถุเท่าๆกันทั่วทั้งตู้จัดแสดง ซึ่งภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการด้วยพลังแห่งรักจะมีแสงจากจอโปรเจคเตอร์อยู่เป็นจำนวนมากและจอค่อนข้างใหญ่ จึงต้องมีการควบคุมค่าความเข้มแสงเป็นพิเศษเนื่องจากแสงจากจอโปรเจคเตอร์มีผลทำให้ค่าความเข้มแสงมากขึ้น




ภาพแสดงแสงไฟในห้องจัดแสดงนิทรรศการด้วยพลังแห่งรัก

สำหรับขั้นตอนการจัดแสงในนิทรรศการด้วยพลังแห่งรัก ห้องจัดแสดง 1-2 และนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา ห้องจัดแสดง 3-4 จะต้องทำการเปิดจอภาพหรือโปรเจคเตอร์ทั้งหมดเสมือนจริง ซึ่งในการจัดแสงจะมีผู้ออกแบบแสงสว่างมาทำการจัดแสงหลังจากติดตั้งนิทรรศการเสร็จเรียบร้อย โดยในขั้นแรกจะมีการจัดแสงตามแบบที่ผู้ออกแบบแสงออกแบบไว้ จากนั้นภัณฑารักษ์กับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะทำการตรวจสอบว่าแสงนั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยภัณฑารักษ์จะตรวจสอบเรื่องภาพลักษณ์ทั้งหมดภายในห้องจัดแสดง ส่วนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะตรวจสอบเรื่องของค่าความเข้มแสง ในการตรวจวัดค่าแสงจะใช้ เครื่องวัดค่าความเข้มแสง วัดบริเวณวัตถุทั้งหมด จะหันตัวรับแสงข้าหาแสง โดยจะวางขนานกับวัตถุ และค่อยๆเลื่อนตัวรับแสงไปรอบวัตถุ ซึ่งจะอ่านค่าความเข้มแสงบนหน้าจอแสงผลควบคู่ไปด้วย หากค่าความเข้มแสงเกินมาตรฐานกำหนดคือ 50 ลักซ์ (lux) เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะแจ้งผู้ออกแบบแสงเพื่อทำการปรับแสงสว่างใหม่ ซึ่งจะทำแบบนี้ไปจนกว่าค่าความเข้มแสงจะไม่เกินที่มาตรฐานกำหนด จะต้องจดบันทึกค่าความเข้มแสงที่ต่ำสุดและสูงสุดเก็บไว้เสมอ

แสงกับการอนุรักษ์วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ

ในการจัดนิทรรศการใดๆในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะมีการวางแผนตั้งแต่ระยะเวลาในการจัดแสดง การเลือกวัตถุจัดแสดงการหมุนเวียนวัตถุจัดแสดง เพราะทุกกระบวนการมีผลต่อวัตถุเป็นหลัก เนื่องจากการจัดนิทรรศการหนึ่งครั้งวัตถุจะต้องเจอกับแสงสว่างจำนวนมากและเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสื่อมสภาพของวัตถุ หากนิทรรศการมีการควบคุมในส่วนของแสงสว่างได้เป็นอย่างดี จะทำให้วัตถุคงอยู่ในสภาพเดิมได้เป็นระยะเวลานาน

วิธีการป้องกันวัตถุจัดแสดงจากแสงภายในห้องจัดแสดง
• การเลือกวัตถุจัดแสดงควรเลือกวัตถุที่มีสภาพแข็งแรงและสมบูรณ์ หรือขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ หากวัตถุที่นำมาจัดแสดงมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จะมีการเปลี่ยนหมุนเวียนวัตถุภายในห้องจัดแสดงเข้ามาจัดแทนที่ เพื่อลดความเสี่ยงการเสื่อมสภาพของวัตถุ เนื่องจากวัตถุต้องอยู่ภายในตู้จัดแสดงเป็นเวลานาน
• วัตถุโดยส่วนใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่นำมาจัดแสดงเป็นวัตถุประเภทสิ่งทอ หากไม่ทำการควบคุมแสงในการจัดแสดงให้เหมาะสม วัตถุจะเกิดการซีดจาง แห้ง แตกเปราะ ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมค่าความเข้มแสงอยู่ที่ 50 ลักซ์(lux) หรือน้อยกว่า
• เมื่อพบความผิดปกติภายในห้องจัดแสดงหรือวัตถุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วเพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น หากพบว่าไฟภายในตู้จัดแสดงสว่างผิดปกติต้องแจ้งแผนกอนุรักษ์ทะเบียนเพื่อประสานงานกับฝ่ายสนับสนุนฯ เพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ร่วมถึงการตรวจวัดค่าความเข้มแสงใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงเกินจากมาตรฐานกำหนดและทำให้วัตถุเกิดความเสียหาย
• เมื่อมีการเปลี่ยนหลอดไฟภายในห้องหรือตู้จัดแสดง หรือจอแสดงภาพ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ห้ามกระทำการโดยพลการ เนื่องจากแสงที่ถูกเปลี่ยนไปนั้นมีผลกระทบต่อวัตถุโดยตรงและจะส่งผลให้วัตถุเกิดความเสียหายตามมา
• เมื่อมีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดง หลอดไฟหรือจอแสดงภาพ จะต้องมีการวัดค่าความเข้มแสงใหม่ทุกครั้ง
• มีการปิดไฟทุกครั้งหลังจากพิพิธภัณฑ์หมดเวลาเยี่ยมชม รวมถึงปิดประตูทึบแสงเพื่อกันกันแสงจากภายนอกส่องเข้าไปด้านในห้องจัดแสดง
• ต้องมีการจดบันทึกค่าความเข้มแสงทุกครั้งที่ทำการวัดค่าความเข้มแสงของวัตถุ เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันค่า ณ วันที่ทำการวัดแสง เช่นหากพบความผิดปกติของแสงในห้องจัดแสดง แล้วต้องการตรวจวัดค่าความเข้มแสงใหม่ ข้อมูลที่บันทึกไว้สามารถบอกได้ว่าแสงมีความผิดปกติจริงหรือไม่ มีค่าความเข้มแสงมากขึ้นหรือน้อยลงจากเดิม เป็นต้น
• เลือกใช้หลอดไฟและจำนวนวัตต์ของหลอดไฟที่เหมาะสมสำหรับการจัดนิทรรศการ

แสงสำคัญมากในการจัดแสดงวัตถุรวมถึงดูแลและจัดเก็บ หากต้องจัดแสดงวัตถุจะต้องคำนึงถึงความเข้มแสงรวมถึงระยะเวลาในการจัดแสดง เพราะแสงมีทั้งความร้อนและรังสีต่างๆที่มีผลทำให้วัตถุเสื่อมสภาพ เกิดการซีดจางของสี แห้งและแตกเปราะได้ง่าย ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้จะไม่สามารถทำให้วัตถุกลับมามีสภาพเดิมได้อีก ยิ่งไปกว่านั้นแสงยังเป็นตัวช่วยให้การเจริญเติบโตของแมลง จุลินทรีย์ เติบโตได้ดีและรวดเร็ว ทำให้ส่งผลถึงปัญหาการมีแมลงในห้องจัดแสดงหรือห้องจัดเก็บวัตถุได้ ในการจัดแสดงหรือจัดเก็บวัตถุจึงต้องควบคุมแสงสว่างอย่างดีและมีการหมุนเวียนวัตถุในห้องจัดแสดงเพื่อลดปัญหาการเสื่อมสภาพของวัตถุ

หมายเหตุ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องแสงสว่างได้ที่
แสงและสมบัติของแสง
ธรรมชาติของแสงและการมองเห็น
ระบบแสงสว่าง
แสง ระดับความเข้มของแสงและปริมาณแสงที่น่าสนใจ
เครื่องวัดความเข้มแสง (Lux Light Meter)
การออกแบบการใช้แสงสว่างธรรมชาติในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ประเทศลาว.