×

บล๊อก  

เสวนาองค์ความรู้ ไทย-จีน จากนิทรรศการพิเศษจิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา โดย นางสาวอริสรา อำนวยชัยเกิดลาภ, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

เสวนาองค์ความรู้ ไทย-จีน จากนิทรรศการพิเศษจิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

การเสวนาองค์ความรู้ไทย – จีน จากนิทรรศการพิเศษ เรื่อง จิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา เป็นกิจกรรมที่กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2562 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจากนิทรรศการฯ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ จากสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านโบราณคดี และการอนุรักษ์ ในประเด็นการขุดค้นและการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีประเภทสุสาน และความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย การจัดเสวนาองค์ความรู้ไทย-จีน ประกอบนิทรรศการจิ๋นซีแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการขุดค้นทางโบราณคดีและการอนุรักษ์วัตถุ ทั้งยังสะท้อนแนวคิดเรื่องความเชื่อหลังความตายที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้เพื่อหาความรู้ด้านการอนุรักษ์วัตถุในแนวทางอื่นๆมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมในงานอนุรักษ์วัตถุของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เนื่องจากหลังการเยี่ยมชมนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ทำให้เห็นถึงการรักษาและอนุรักษ์วัตถุให้คงอยู่ในสภาพดีไม่ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการจัดแสดงวัตถุในรูปแบบต่างๆที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อวัตถุ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯต่อไปได้ โดยเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) มีการบรรยายทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ใน 4 หัวข้อดังนี้

1. The discovery and protection of the Qin Terracotta Warrios and figures (การค้นพบและอนุรักษ์กองทัพทหารดินเผาของจักรพรรดิฉิสื่อ)
2. The conservation and restoration of the painted pottery figures unearthed from Changling Mausoleum of Western Han dynasty (การบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่ขุดพบจากสุสานฉางหลิง)
3. การจัดการและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีประเภทหลุมฝังศพในประเทศไทย
4. การขุดค้นแหล่งฝังศพสมัยหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไช จังหวัดสุพรรณบุรี

การบรรยายภาคเช้า

ในหัวข้อแรก “The discovery and protection of the Qin Terracotta Warrios and figures (การค้นพบและอนุรักษ์กองทัพทหารดินเผาของจักรพรรดิฉิสื่อ)” บรรยายโดย Mr. ZhouKun ผู้อำนวยการสำนักข้อมูลและข่าวสารพิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิฉินสื่อและหัวหน้าวิศวกร

Mr.ZhouKun ได้บรรยายถึงการขุดพบโบราณวัตถุอุทยานสุสานจักรพรรดิซึ่งในอุทยานสุสานที่ขุดค้นนั้นพบหมู่อาคารที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม 4 แห่ง ซึ่งในหลุมที่ 1,2 และ 3 มีการพบกองทัพทหารม้าดินเผา นอกเหนือจากนี้ยังขุดพบโบราณวัตถุที่เป็นหุ่นดินเผาและเครื่องสำริดต่างๆ นอกจากนี้ Mr.ZhouKun ยังกล่าวอีกว่า ในด้านการอนุรักษ์วัตถุมีการซ่อมแซมและมีงานอนุรักษ์สีสันของโบราณวัตถุจากหลุมที่ขุดพบกองทัพทหารม้าดินเผาตอนขุดพบไม่ได้มีการป้องกันสีจึงการหลุดเมื่อสัมผัสกับอากาศ ซึ่งวิธีการเบื้องต้นในการรักษาตัวสีจะมี 3 วิธีดังนี้ 1) การลงสีแบบ 2 ชั้น 2) การลงสีและลงโค้ด 3) การลงสีแบบ 2 ชั้นและลงโค้ด ส่วนสีและเทคนิคการลงสี (ใช้ซ่อมแซมโบราณวัตถุ) นั้นจะใช้แป้งเติมลงไปในส่วนที่สึกหรอ จากนั้นใช้สีทาลงไปโดยทาส่วนด้านในของวัตถุก่อนแล้วค่อยลงสีที่ด้านนอกวัตถุ จากนั้นมีการใช้สีที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนเช่น ตัวเกราะจะทาสีแดง เป็นต้น ซึ่งได้มีการใช้สารเคมีเข้ามาช่วยในการเพิ่มการยึดเกราะของสีให้ดียิ่งขึ้น ทำให้มีการยืดอายุในการอนุรักษ์วัตถุได้

ในหัวข้อถัดมา “The conservation and restoration of the painted pottery figures unearthed from Changling Mausoleum of Western Han dynasty (การบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่ขุดพบจากสุสานฉางหลิง)” บรรยายโดย Ms.GE Hong ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุเมืองเสียนหยาง

Ms.GE Hong ได้บรรยายถึงการซ่อมแซมและอนุรักษ์หุ่นดินเผาเขียนสีที่ขุดพบจากหลุมฝังที่สุสานฉางหลิงของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่หลิวปัง ได้มีการสำรวจตรวจสอบสภาพชำรุด วิเคราะห์สาเหตุวัตถุก่อนการซ่อมแซมว่ามีสิ่งสกปรก สีลอก แตกหัก ขี้เกลือ รอยร้าว เชื้อแบคทีเรีย/รา ฯ หรือไม่ และกำหนดแนวทางการบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์ หลังจากนั้นได้ทำการซ่อมแซมอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งในขั้นตอนการซ่อมแซมและอนุรักษ์จะต้องไม่มีการต่อเติมชิ้นส่วนที่ไม่มีหลักฐานโดยเด็ดขาด ก่อนการสำรวจวัตถุจะมีการถ่ายภาพและลงบันทึกข้อมูล หลังจากนั้นจะใช้วิธีวาดภาพวัตถุ ตรวจสอบวัตถุจากนั้นถ่ายภาพอีกครั้งแล้วนำวัตถุไปทำความสะอาด ซึ่งมีการใช้เกลือในการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากวัตถุและจะมีการนำส่วนประกอบต่างๆมาจัดเรียงก่อนที่จะนำชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบต่อกัน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานและยากลำบากเนื่องจากถ้าหากมีชิ้นส่วนบางชิ้นที่สูญหายจะต้องมีการคัดลอกชิ้นส่วนนั้นขึ้นมาใหม่ เมื่อประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดแล้วจะมีการลงสีเพิ่มเติมแต่ต้องผ่านกการวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ก่อนว่าควรลงสีเพิ่มเติมในส่วนไหนแล้วจึงจะซ่อมแซมในส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกต่อไป ทำให้การอนุรักษ์เป็นไปตามหลักการและบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

การบรรยายภาคบ่าย

หัวข้อแรกในช่วงบ่าย “การจัดการและการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีประเภทหลุมฝังศพในไทย” บรรยายโดย นายเสน่ห์ มหาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

นายเสน่ห์ ได้บรรยายถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการอนุรักษ์เชิงป้องกันในงานโบราณคดี ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อนำไปสู่การประเมินและจัดลำดับความสำคัญของการอนุรักษ์และการอนุรักษ์เชิงป้องกัน ซึ่งการดำเนินการอนุรักษ์จะมุ่งเน้นให้วัตถุมีสภาพที่แข็งแรงและเสื่อมสภาพช้าที่สุด โดยการจัดการและอนุรักษ์จะต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนการดำเนินการอนุรักษ์ ได้แก่ ภูมิศาสตร์แหล่งโบราณคดี สภาพแวดล้อมต่างๆ ธรณีวิทยาและ ความสำคัญต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เป็นต้น ในการดำเนินการอนุรักษ์สามารถดำเนินการได้ทั้งในแหล่งที่ขุดค้นและห้องปฏิบัติการ ในการฏิบัติการจะต้องมีการทำความสะอาดนำสิ่งสกปรกออกจากวัตถุก่อนจากนั้นจะทำการซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงให้กับวัตถุ หากมีการลงสารเคลือบผิวจะใช้สารละลายที่เป็นออร์แกนิคและมีการป้องกันจุลินทรีย์ด้วย ทั้งนี้ต้องดำเนินการด้วยความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย

หัวข้อถัดมาคือ “การขุดค้นแหล่งฝังศพสมัยหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไช จังหวัดสุพรรณบุรี” บรรยายโดย นางสาวสุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี

ซึ่งนางสาวสุภมาศ ได้บรรยายถึงการขุดพบทางโบราณคดีและศึกษารูปแบบการปลงศพต่างๆรวมถึงยังได้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อของผู้คนในยุคสมัยหินใหม่ เนินดินที่ฝังศพมีความศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนรวมกัน ถึงจะมีพิธีกรรมการปลงศพที่เป็นแบบแผนเดียวกันแต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดของข้าวของที่อุทิศให้แก่ผู้ตายในบางหลุมศพเป็นข้าวของสามัญทั่วไป บางหลุมศพมีข้าวของที่พิเศษและปริมาณมากกว่าหลุมอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสถานภาพทางสังคมไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในช่วงสุดท้ายก่อนการจบการบรรยายในวันแรกได้มีการพูดคุยและซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆกับวิทยากรทั้ง 4 ท่านอีกครั้ง วิทยากรจะอธิบายอย่างละเอียดและเพิ่มเติมข้อมูลให้กับผู้ซักถามและผู้ร่วมฟังบรรยายด้วย ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้คือ ได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของการอนุรักษ์และการอนุรักษ์เชิงป้องกันในแนวทางต่างๆที่เป็นสากล ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯต่อไปได้ในอนาคตได้ นอกจากนั้นยังได้รับความรู้เรื่องทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ด้วย

ภาพประกอบการอบรม


รูปภาพระหว่างการฟังงานเสวนา


การทำงานโบราณคดีบริเวณสุสานจักรพรรดิฉินสื่อ


หลุมทหารดินเผาหมายเลข 1 2 และ 3 ตามลำดับ สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี พบหุ่นทหารดินเผาและม้าดินเผา


ภายในมีการขุดพบหน้าไม้ ลูกธนูและอาวุธยาวที่ใช้ในกองทัพฉิน


การซ่อมแซมและประกอบรถม้าซึ่งใช้เวลานานถึง 8 ปี


การบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีที่ขุดพบจากสุสานฉางหลิง


หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ภายในแหล่งมรดกโลกบ้านเชียงและภาชนะดินเผาลายเขียนสีวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่ฝังอุทิศในหลุมศพ


ภายในหลุมขุดค้นที่เมืองหยงเฉิง พบรถม้าภาพถัดมาสำริดเป็นรูปปี้และหยกรูปปลา ซึ่งเป็นของล่ำค่าแสดงให้เห็นถึงสถานะของผู้ตาย