×

บล๊อก  

พื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของห้องคลัง ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

สถานที่

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แชร์

พื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของห้องคลัง

ห้องคลัง คือสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุเพื่อใช้ในการจัดแสดง และงานค้นคว้าวิจัย ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับห้องแสดงนิทรรศการ นอกจากจะกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บวัตถุแล้ว ควรมีระบบการจัดการที่ดีเพื่อให้วัตถุคงสภาพได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดด้วย

แนวทางเบื้องต้นสำหรับจัดการพื้นที่เพื่อจัดเก็บวัตถุมีดังต่อไปนี้ค่ะ

๑. กำหนดเขตพื้นที่สะอาด

ในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีข้อตกลงว่าห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในพื้นที่ที่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับวัตถุ ยกเว้นน้ำเปล่าที่มีภาชนะปิดมิดชิด เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นสาเหตุของสิ่งไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายต่อวัตถุ เช่น หนู แมลง หรือคราบสกปรกต่างๆ และเมื่อมีการปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าว ควรรักษาความสะอาดเป็นพิเศษด้วย

๒. ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์

พื้นที่ที่จัดเก็บวัตถุควรมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับวัตถุประเภทนั้นๆ โดยความชื้นที่เหมาะสำหรับการจัดเก็บวัตถุประเภทผ้าและกระดาษ ควรอยู่ระหว่าง ๕๐ – ๖๐ Rh% ถ้าความชื้นไม่เหมาะสมต่อการจัดเก็บวัตถุอาจทำให้วัตถุเสียหายได้ เช่น ถ้าความชื้นต่ำกว่าที่กำหนดไว้อาจทำให้วัตถุแห้งกรอบ หรือหากความชื้นสูงเกินไปอาจทำให้เกิดเชื้อราได้

๓. จัดระบบการรักษาความปลอดภัย

เพื่อป้องกันวัตถุถูกโจรกรรม ควรจำกัดบุคคลที่สามารถเข้า-ออกพื้นที่ห้องคลัง ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ใช้ระบบตรวจสอบลายนิ้วมือเพื่อจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของผู้ปฏิบัติงาน บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการก่อนจึงจะสามารถเข้าชมห้องคลังได้ และต้องมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยตลอดเวลาทุกครั้ง อีกทั้งยังติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด บันทึกภาพไว้ ๒๔ ชั่วโมงเพื่อใช้ตรวจสอบเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

๔. มีการจัดการแมลงที่ดี

นอกเหนือไปจากการกำหนดเขตปลอดอาหารและเครื่องดื่มในเบื้องต้นแล้ว พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้กำหนดให้มีการรมควันด้วยสารเคมีทุกเดือนเพื่อกำจัดแมลงภายในพิพิธภัณฑ์ และยังติดตั้งกับดักแมลงบรรจุฮอร์โมนสำหรับดึงดูดแมลงไว้ตามส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ด้วย

๕. มีแผนสำหรับป้องกันภัยพิบัติ สาเหตุการเกิดอุบัติภัย มีอยู่ ๒ ปัจจัยคือ

๕.๑ ภัยที่เกิดจากมนุษย์ อาจเกิดขึ้นได้จากการถูกโจรกรรมดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หรืออาจเกิดขึ้นจากการที่บุคคลากรขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลวัตถุ ทำให้วัตถุเสียหายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นจึงควรจัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่รับผิดชอบอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มทักษะในการจัดการดูแลวัตถุ

๕.๒ ภัยจากธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น

อัคคีภัย – ควรติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยหรือถังดับเพลิงในพื้นที่ที่จัดเก็บวัตถุ และหมั่นตรวจสอบว่าระบบยังสามารถใช้งานได้จริงอยู่เสมอ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ใช้ระบบการดับเพลิงด้วยก๊าซ FM200 ซึ่งเป็นก๊าซที่ลดความร้อนของเปลวไฟทำให้ไฟมอดลง แตกต่างจากการใช้น้ำดับเพลิงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัตถุที่ส่วนใหญ่เป็นผ้าได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้พื้นที่สำหรับจัดเก็บวัตถุและบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตปลอดบุหรี่และการก่อให้เกิดประกายไฟทุกประการ

อุทกภัย – เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุเสียหายจากอุทกภัย พื้นที่ในการจัดเก็บวัตถุไม่ควรอยู่ที่ชั้นแรกของอาคาร เพราะมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาขึ้นได้มากที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถจัดเก็บวัตถุในชั้นสูงได้ ควรวางวัตถุให้สูงจากพื้นอย่างน้อย ๖ – ๑๒ นิ้ว เพราะนอกจากจะป้องกันอุทกภัยได้แล้ว ยังสามารถป้องกันความชื้นที่ขึ้นมาจากพื้นได้ด้วย

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้แม้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นสำหรับการจัดการพื้นที่เพื่อจัดเก็บวัตถุในพิพิธภัณฑ์ แต่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัตถุหรือของสะสมที่เราดูแลรักษาอยู่ได้เช่นกันค่ะ