×

บล๊อก  

การซ่อมสงวนและการเตรียมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช ครั้งที่ 2 โดย นางสาวอริสรา อำนวยชัยเกิดลาภ, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

การซ่อมสงวนและการเตรียมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช ครั้งที่ 2

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จเยือนชวาถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2413 นับเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยได้มีการเยือนชวาอีก 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2439 และ พ.ศ. 2444 การเสด็จเยือนชวาทุกครั้งเพื่อการศึกษาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกที่เป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงของชวา ซึ่งงานผ้าบาติกเป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก เมื่อรวมกับที่มีคนทูลเกล้าถวายแล้วมีอยู่ทั้งสิ้น 307 ผืน โดยได้มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและทุกผืนนั้นยังไม่เคยผ่านการใช้งาน

นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช สายสัมพันธ์สยามและชวา ครั้งที่ 2 มีการหมุนเวียนผ้าบาติกสำหรับจัดแสดงทั้งสิ้น 38 ผืน เนื่องจากผ้าบาติกเหล่านี้มีอายุหลายร้อยปีการที่จะจัดแสดงเป็นเวลานานนั้นจึงไม่เหมาะสม เนื่องจากผ้าอาจเกิดการซีดจางจากการโดยไฟส่องเป็นจุดๆหรืออาจเกิดการย้วยเพิ่มของผ้าที่มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิและความชื้นในตู้จัดแสดง เป็นต้น เพราะว่าผ้าบาติกที่พระองค์ซื้อและมีคนทูลเกล้าถวายนั้นมีมาจากหลายเมืองในเกาะชวา ซึ่งผ้าแต่ละเมืองนั้นก็จะมีความแตกต่างในลวดลาย วัสดุที่ใช้ และขั้นตอนกระบวนการทำผ้าบาติก รวมถึงการจัดเก็บผ้าบาติกที่ไม่ถูกวิธีนักทำให้เกิดรอยยับและเกิดการย้วยของผ้า ทำให้ก่อนการหมุนเวียนผ้าสำหรับจัดแสดงในครั้งที่ 2 นี้ ต้องมีการตรวจสอบสภาพวัตถุก่อนเสมอและต้องมีการซ่อมสงวนวัตถุเพื่อให้วัตถุจัดแสดงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการจัดแสดง โดยวัตถุบางชิ้นต้องมีการเสริมความเข็งแรงก่อนเพื่อให้วัตถุจัดแสดงได้นานยิ่งขึ้น

ในการซ่อมสงวนและเตรียมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกฯ ในการซ่อมสงวนผ้าบาติกแต่ละผืนนั้นต้องดูหลายองค์ประกอบเช่น สภาพวัตถุ รอยยับหรือความย้วยของผ้า การขึ้นรอยเตารีดเมื่อผ้าสัมผัสความร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสีผ้าหลังโดนความร้อน เป็นต้น การซ่อมสงวนจึงมีการคิดหาวิธีที่จะซ่อมสงวนผ้าให้สมบูรณ์พร้อมจัดแสดงแต่ไม่ทำลายผืนผ้าให้เกิดความเสียหายหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกอย่างหนึ่งคือการเตรียมวัตถุจัดแสดงโดยการหมุดผ้าลงบนบอร์ดหรือการม้วนผ้าเข้าแกนผ้าเพื่อซ่อนส่วนที่ไม่ต้องการจัดแสดงก็ต้องค่อยๆดำเนินการ เนื่องจากผ้าบางผืนมีความย้วยของผ้ามากทำให้การที่จะหมุดผ้านั้นต้องใช้เวลาและวิธีการที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะต้องทำให้ผ้าที่เตรียมนั้นออกมาสวยงามไม่ขัดต่อสายตาภัณฑารักษ์และผู้เข้าชมนิทรรศการ

การจัดเก็บและทำความสะอาดวัตถุประเภทผ้า

วัตถุประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายหรือวัตถุที่มีผ้าเป็นส่วนประกอบ วัตถุบางชิ้นอาจมีการประดับตกแต่งด้วยโลหะ ลูกปัด เมล็ดพืช เป็นต้น การดูแลรักษาและทำความสะอาดต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ระวังความชื้นและความร้อนอาจจะทำให้วัตถุเกิดความเสียหาย วิธีการเก็บรักษาผ้าโบราณมีผลต่อการคงสภาพหรือเสื่อมสภาพของวัตถุ หากเก็บรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะสามารถยืดอายุของผ้าโบราณได้ แต่ถ้าหากการเก็บรักษาไม่ถูกวิธีก็จะทำให้ผ้าโบราณเสื่อมสภาพเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

วิธีการเก็บรักษามีดังนี้
1. ควรเก็บผ้าไว้ในที่ที่มีอากาศไหลเวียนถ่ายเทได้ดี ไม่มีฝุ่นละออง แมลงและรา ความชื้นสัมพันธ์ควรอยู่ระหว่าง 50-60% ± 5% อุณหภูมิ 22-25 องศาเซลเซียส
2. ถ้าผ้าเป็นผืนให้เก็บรักษาแบบม้วนใส่แกนกลมหรือวางราบในกล่องดระดาษไร้กรด
3. หากจำเป็นต้องพับผ้า ควรหนุนตรงรอยพับด้วยกระดาษนุ่มหรือทำเส้นหนุนเพื่อรองรอยพับ พับผ้าให้มีรอบพับน้อยที่สุด แต่ผ้าที่มีความชำรุดมาก มีความเปราะและกรอบไม่ควรนำมาพับ
4. ถ้าเป็นเครื่องแต่งกาย ควรเก็บแบบวางราบในกล่องกระดาษไร้กรดหรือแขวนด้วยไม้แขวนเสื้อที่มีนวมนุ่ม ควรมีการห่อหุ้มอีกชั้นและห้ามให้ชายผ้าทิ้งลงมาโดยไม่มีวัสดุที่เหมาะสมรองรับ
5. ไม่ควรวางผ้าผืนใหญ่หรือผ้าเนื้อหนาทับซ้อนกัน และควรคำนึงถึงน้ำหนักของผ้าด้วย ถ้าหากต้องวางผ้าซ้อนกันควรคั่นด้วยกระดาษไร้กรดและควรวางผ้าที่มีน้ำหนักมากอยู่ด้านล่าง
6. ตู้ ลิ้นชัก กล่องหรือหีบที่ใช้เก็บรักษาผ้านั้นควรปิดให้แน่นไม่ฝุ่นละอองและแมลงเข้าไปภายในได้
7. ผ้าโบราณที่ชำรุดฉีกขาดควรเก็บแยกไว้เพื่อรอการอนุรักษ์
8. การหยิบจับเพื่อเคลื่อนย้ายวัตถุ ควรสวมถุงมือ เพื่อป้องกันวัตถุเกิดความเสียหายจากสิ่งปนเปื้อนจากมือและอย่าจับบริเวณที่เปราะบาของวัตถุ

วิธีทำความสะอาด

1. ใช้แปรงขนอ่อนหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาด โดยดูดฝุ่นผ่านผ้าตาข่ายเพื่อป้องกันวัตถุชำรุดเสียหาย
2. ไม่ควรใช้ความร้อนรีดผ้า เพราะความร้นจะทำให้เส้นใยชำรุด ขาดได้ ถ้าผ้ายับย่นใช่กระจกทับบริเวณที่ยับย่น แต่ใช้เวลานานจนกว่ารอยยับจะหายไป


การเก็บรักษาผ้าโดยการม้วนผ้าเข้าแกนกระดาษโดยคั่นด้วยกระดาษไร้กรด

รูปภาพจากงาน “รู้เก็บ รู้ซ่อมแซม” ในวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 1 พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ


การเก็บผ้าในกล่องกระดาษไร้กรดโดยรองด้วยกระดาษไร้กรดหรือผ้าไทเวก

รูปภาพจากงาน “รู้เก็บ รู้ซ่อมแซม” ในวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 1 พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

ขั้นตอนการดำเนินการซ่อมสงวนวัตถุและเตรียมวัตถุจัดแสดง

งานตรวจสภาพและแก้ไขบอร์ดจัดแสดง

1. การตรวจสภาพบอร์ดบาติก

บริษัทแปลนโมทิฟ เป็นผู้จัดทำบอร์ดผ้าสำหรับจัดแสดง เมื่อมีการส่งมอบบอร์ดให้กับทางแผนกอนุรักษ์และทะเบียนจึงต้องมีการตรวจสอบบอร์ดก่อนเสมอ เนื่องจากบอร์ดนั้นมีส่วนประกอบที่อาจทำให้ผ้าเกิดความเสียหายได้ถ้าหากการจัดทำบอร์ดดีไม่เพียงพอจึงต้องมีการแก้ไขบอร์ดเพิ่มเติม ในการตรวจสอบนั้นจะมีการทำสติกเกอร์แปะที่ด้านหลังของบอร์ด เพื่อบ่งบอกรายละเอียดของวัตถุที่จัดแสดงบนบอร์ดนี้ ดังภาพ


BATIK # 2 หมายถึง การหมุนเวียนผ้าครั้งที่ 2

G3 หมายถึง บอร์ดนี้จัดแสดงที่ห้องแกลอรี่ 3

WC1A หมายถึง เลขตู้จัดแสดง

SEMARANG หมายถึง ชื่อเมืองของผ้าบาติก

L 2014.1.131 หมายถึง เลขทะเบียนของผ้าบาติก

115*115 CM หมายถึง ขนาดของเฟรม/บอร์ดบาติก

นอกจากติดสติกเกอร์ระบุข้อมูลแล้ว ยังต้องเขียนหัวลูกศรชี้ขึ้นเพื่อกำหนดด้านล่างและด้านบนของบอร์ด ด้วยเพื่อความสะดวกในการนำบอร์ดมาใช้และในการเตรียมวัตถุสำหรับจัดแสดง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อนำบอร์ดมาใช้ในการเตรียมวัตถุก็ควรตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งเช่นกัน

การจัดเก็บบอร์ดผ้านั้นจะต้องมีการใช้ พลาสติกใสห่อหุ้มบอร์ดก่อนเพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งสกปรกเมื่อนำเข้ามาจัดเก็บจะใช้ผ้าไทเวก (Tyvek) คลุมอีกรอบหนึ่ง

2. การแก้ไขบอร์ดผ้าบาติก

เนื่องจากบอร์ดบาติกสำหรับม้วนแกนด้านหลังนั้นเมื่อตรวจสภาพแล้วพบว่าบริเวณขอบมีความคมจากฟิวเจอร์บอร์ด จึงต้องมีการแก้ไขบอร์ดเองโดยการเลาะผ้าทำบอร์ดออกและมีการเพิ่ม ใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) เข้าไปเพื่อปิดความคมบริเวณฟิวเจอร์บอร์ดด้านใน จากนั้นใช้เครื่องยิงลวดตัวใหญ่ยิ่งให้ ใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) ติดกับบอร์ด ปิดด้วยผ้าทำบอร์ดและตรวจความเรียบร้อยอีกครั้งก่อนทำการห่อเก็บด้วยพลาสติกใส

บอร์ดจัดแสดงผ้าแบบม้วนแกนด้านหลัง

การทำบอร์ดจัดแสดงผ้าบาติกแบบม้วนแกนด้านหลัง ทำขึ้นเพื่อใช้ม้วนผ้าบาติกที่ในส่วนที่ไม่ต้องการทำการจัดแสดง ซึ่งการทำแกนม้วนผ้านั้นต้องทำทั้งหมด 2 ส่วน คือส่วนแกนและส่วนที่เป็นตัวฝาปิดแกนม้วนผ้า มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนตอนการจัดทำแกนม้วนผ้า

1. ตัดแกนให้มีความยาวอยู่ที่ 110 เซนติเมตร จำนวน 6 อัน เมื่อตัดเสร็จแล้วตกแต่งรอบบริเวณที่ตัดออกเพราะอาจมีขุยของกระดาษอยู่
2. ตัดผ้าทำบอร์ดให้มีความยาวเกินออกมาจากความยาวแกน 1 นิ้ว และตัดให้มีความกว้างพอที่จะหุ้มแกนได้ทั้งหมดโดยต้องตัดให้มีส่วนที่ทบกันเกินออกมา 1 นิ้ว
3. หุ้มบอร์ดโดยด้านปลายที่ติดกับทูบจะให้กาวสองหน้าเป็นตัวยึดติด ส่วนปลายอีกด้านนึงนั้นจะต้องทำการดึงให้ผ้ามีความตึงที่สุด จากนั้นพับปลายเข้าไปด้านในและหมุดไว้ด้วยเข็มหมุดเพื่อรอเย็บติด
4. เย็บผ้าที่ทำการหมุดไว้ติดกับผ้าด้านในโดยใช้วิธีการเย็บแบบด้นถอยหลังหรือแบบอื่นๆได้ตามความเหมาะสม
5. เมื่อเย็บเสร็จจะทำการเก็บผ้าด้านปลายทั้ง 2 ข้างของแกน โดยตัดผ้าให้เป็นสามเหลี่ยมรอบๆและใช้กาวสองหน้าเป็นตัวยึดผ้าเข้ากับกับแกน


6. เมื่อเสร็จแล้วเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

ขั้นตอนการทำฝาปิดแกนม้วนผ้า

1. ตัดโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) โดยให้มีขนาดตามเส้นรอบวงและความสูงของแกน โดยต้องตัดทั้งหมด 12 อัน


2. จากนั้นค่อยๆเหลาโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ด้วยคัตเตอร์ให้มีขนาดใกล้เคียงกับแกนมากที่สุด โดยที่ด้านท้ายของโฟมในส่วนที่ต้องใส่เข้าไปในแกนจะต้องเหลาโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ให้ขอบมีความมนเพื่อที่จะได้ใส่เข้าไปได้ง่ายขึ้น โดยลองสวมเข้าไปกับแกนถ้าหากใส่ไม่ได้หรือใส่แล้วรู้สึกว่าคับเกินไปให้เหลาโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ให้เล็กลงอีก

3. กำหนดด้านบนของโฟมเพื่อที่จะทำการกรีดเพื่อเก็บปลายผ้าที่หุ้มโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ด้านบน โดยวัดจากด้านบนลงมา 1 นิ้ว

4. ตัดผ้าทำบอร์ดสีเดียวกับแกนมาทำการหุ้มด้านบนของโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ตัดให้หุ้มด้านบนได้มิดชิด หลังจากนั้นจะทำการฉีดกาวสเปรย์ 3 m แบบไร้กรด ลงบนด้านบนของโฟม ต้องเว้นระยะห่างระหว่างโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) กับหัวฉีดสเปย์เนื่องจากถ้าฉีดใกล้กาวที่ออกมาจะเป็นกองทำให้ผ้าขรุขระ เมื่อฉีดแล้วให้นำด้านที่มีกาววางลงตรงกลางผ้าที่เตรียมไว้และทิ้งให้แห้ง

5. เมื่อทิ้งไว้จนกาวแห้งแล้ว นำมาเก็บปลายผ้าเข้าด้านในโฟมชนิดเนื้อแข็ง (Ethafoam) ที่กรีดไว้ตอนแรกให้สวยงาม จากนั้นเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการขั้นตอนถัดไป

ทำแถบหนุนรอยพับทบผ้า

การทำแถบหนุนรอยพับทบผ้าเพื่อป้องกันรอยพับทบผ้าไว้ด้านหลังเนื่องจากผ้าในส่วนนั้นไม่ได้จัดแสดง ซึ่งการที่พับผ้าไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีแถบหนุนคอยรองรับจะทำให้ผ้าเกิดรอยยับทำให้ผ้าเกิดความเสียหายได้ การทำแถบหนุนรอยพับมีขั้นตอนดังนี้

1. ตัดผ้าไทเว็ก (Tyvek) ให้มีความยาวตามที่กำหนด โดยตัดให้ผ้าไทเว็ก (Tyvek) กว้าง 12 เซนติเมตร
2. ตัดใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) หรือต่อเศษ ใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) ได้ขนาดความกว้างและความยาวเท่าไทเวก ถ้าหากทำการต่อเศษ ใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) จะต้องทำการเย็บติดกันก่อน
3. เย็บผ้าไทเว็ก (Tyvek) ทั้ง 2 ด้าน โดยเหลือด้านหนึ่งเอาไว้สำหรับใส่ ใยโพลีเอสเตอร์อัดแผ่น (Polyester felt) เข้าไปและเย็บปิดให้เรียบร้อย จากนั้นเย็บเข้าตู้เก็บวัตถุให้เรียบร้อยเพื่อรอดำเนินการขั้นตอนถัดไป

ซ่อมสงวนผ้าบาติกสำหรับหมุนเวียนครั้งที่ 2 จำนวน 38 ผืน

วัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ มีสภาพค่อนข้างดี โครงสร้างของผ้ายังแข็งแรง แต่ส่วนใหญ่จะพบปัญหาเรื่องมีรอยพับทบ รอยยับในผืนผ้า จึงได้ดำเนินการซ่อมสงวนวัตถุเพื่อคลายรอยยับของผ้า โดยเพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) จากนั้นจึงทำให้ผ้าเรียบด้วยวิธีรีดด้วยความร้อน หรือ ใช้แผ่นกระจก (Glass Weight) ที่มีน้ำหนักกดทับลงไปให้เรียบ

ขั้นตอนการซ่อมสงวนวัตถุด้วยวิธีรีดด้วยความร้อน

1. นำผ้าออกจากแกนและวางราบบนโต๊ะ เพื่อตรวจสอบรอยยับของวัตถุก่อนการซ่อมสงวน จากนั้นจึงทดลองใช้เตารีดขนาดเล็ก ปรับความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส กดลงไปบนวัตถุที่มีผ้าฝ้ายมัสลินรองด้านบน เพื่อทดสอบความเปลี่ยนแปลงของสีที่เกิดจากความร้อนของเตารีด หากบริเวณที่รีดลงไปเปลี่ยนสีหรือเกิดรอยเป็นรูปร่างของเตารีดจำเป็นต้องซ่อมสงวนด้วยวิธีอื่น


2. เพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) ลงบนบริเวณที่มีรอยยับหรือรอยพับในผืนผ้า

3. นำเตารีดขนาดเล็ก ปรับความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส กดทับลงบนวัตถุที่มีผ้าฝ้ายมัสลินรองด้านบนและด้านล่าง เป็นเวลา 5 วินาที

4. ตรวจสอบรอยยับของวัตถุหลังการซ่อมสงวนอีกครั้งก่อนการจัดเก็บ ดำเนินการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนกระดาษหรือแกนม้วนผ้าด้านหลัง รองด้วยกระดาษไร้กรด จากนั้นจึงเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

ข้อดี ข้อเสียและปัญหาที่พบขณะปฏิบัติงาน

ข้อดี

1. การซ่อมสงวนวัตถุวิธีการรีดด้วยความร้อน สามารถทำให้รอยยับหรือรอยพับทบจางหายไปได้ดีกว่าการใช้แผ่นกระจกทับ (Glass Weight)
2. การซ่อมสงวนวัตถุด้วยความร้อนใช้เวลาในการซ่อมสงวนเพียงไม่นานเมื่อเทียบกับวิธีการใช้แผ่นกระจกทับ (Glass Weight )
3. สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่เปลืองเนื้อที่การทำงาน เนื่องจากสามารถเก็บวัตถุได้ทันทีหลังจากการซ่อมสงวน

ข้อเสีย

1. ต้องควบคุมเวลาในการกดทบวัตถุด้วยความร้อน เพื่อไม่ให้วัตถุเกิดการเปลี่ยนแปลงสี ซึ่งผ้าบาติกแต่ละผืนมีความสามารถในการทนความร้อนที่ต่างกัน
2. ผ้าบาติกนั้นมีความหลากหลายในการใช้สีลงในผืนผ้า บางผืนประกอบด้วย 2 สี, 3 สี เป็นต้น ดังนั้นสีที่ประกอบอยู่ในผืนผ้าต้องทดสอบการเปลี่ยนแปลงสีที่เกิดจากความร้อนของเตารีด
3. เส้นใยของผ้าบาติกอาจเกิดความเสียหายจากการโดนความร้อน

ปัญหาที่พบ

1. การเพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) ผ้าบาติกบางผืนเส้นใยมีความสามารถดูดซึมน้ำได้น้อย หรือ ช้า การรีดด้วยความร้อนจึงทำให้ในบางครั้งผ้าเกิดคราบน้ำบนผืนผ้า
2. เมื่อทำการซ่อมสงวนด้วยความร้อนและเพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) ทำให้ฝุ่นที่เกาะติดอยู่ในผืนผ้าหลุดออกมาเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าฝ้ายมัสลินในการรองรีดเป็นประจำ

ขั้นตอนการซ่อมสงวนวัตถุด้วยวิธีใช้น้ำหนักกดทับ

1. นำผ้าออกจากแกนและวางราบบนโต๊ะ เพื่อตรวจสอบรอยยับของวัตถุก่อนการซ่อมสงวน จากนั้นจึงทดลองใช้เตารีดขนาดเล็ก ปรับความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส กดลงไปบนวัตถุที่มีผ้าฝ้ายมัสลินรองด้านบน เพื่อทดสอบความเปลี่ยนแปลงของสีที่เกิดจากความร้อนของเตารีด ถ้าหากบริเวณที่รีดลงไปเปลี่ยนสีหรือเกิดรอยเป็นรูปร่างของเตารีดจำเป็นต้องซ่อมสงวนด้วยวิธีใช้แผ่นกระจก (Glass Weight) ที่มีน้ำหนักกดทับลงไปให้เรียบ
2. เพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) ลงบนบริเวณที่มีรอยยับหรือรอยพับในผืนผ้า


3. นำแผ่นกระจก (Glass Weight) ที่มีน้ำหนักกดทับลงไปบนรอยยับหรือรอยพับทบในผืนผ้า เป็นเวลา 30 นาที – 1 ชั่วโมง

4. ตรวจสอบรอยยับของวัตถุหลังการซ่อมสงวนอีกครั้งก่อนการจัดเก็บ ดำเนินการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนกระดาษหรือแกนม้วนผ้าด้านหลัง รองด้วยกระดาษไร้กรด จากนั้นจึงเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

ข้อดี ข้อเสียและปัญหาที่พบขณะปฏิบัติงาน

ข้อดี

1. การซ่อมสงวนด้วยวิธีการใช้แผ่นกระจก (Glass Weight) จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เส้นใย
2. การซ่อมสงวนด้วยวิธีการใช้แผ่นกระจก (Glass Weight) ไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสี เนื่องจากไม่มีการใช้ความร้อนในการซ่อมสงวน

ข้อเสีย

1. การซ่อมสงวนด้วยวิธีการใช้แผ่นกระจกทับ (Glass Weight) เวลาในการซ่อมสงวนผ้าบาติกอาจไม่เท่ากัน เนื่องจากผ้าแต่ละผืนมีขั้นตอนกระบวนการในการผลิตและการจัดเก็บที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางผืนอาจต้องทำการซ่อมสงวนด้วยวิธีนี้ถึง 3 ครั้ง
2. การซ่อมสงวนด้วยวิธีนี้รอยยับและรอยพับทบจะหายช้ากว่าหรืออาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
3. การซ่อมสงวนด้วยวิธีนี้ใช้เวลาในการซ่อมสงวนนานกว่าการรีดด้วยความร้อน ผ้าที่ทำการทับด้วยแผ่นกระจก (Glass Weight) บางผืนทับไว้ 1 ชั่วโมง เมื่อนำแผ่นกระจกออกต้องทำการเพิ่มความชื้นเพื่อให้เส้นใยผ้าคลายตัว (ด้วยเครื่องพ่นไอน้ำแบบไอเย็น) และทับด้วยแผ่นกระจกอีกครั้ง รอยยับหรือรอยพับทบนั้นจึงหายไป

ปัญหาที่พบ

ผ้าบาติกมีขนาดแตกต่างกันในแต่ละผืน การใช้แผ่นกระจกทับ (Glass Weight) จึงมีการใช้แผ่นกระจกไม่เท่ากันในทับรอยยับในผืนผ้า ผ้าบางผืนมีความยาวและความกว้างมาก รอยยับในผืนผ้าค่อนข้างเยอะ ทำให้แผ่นกระจกในการทับ (Glass Weight) มีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ถุงทรายมาช่วยในการซ่อมสงวนวัตถุ

การเตรียมวัตถุจัดแสดง

วัตถุที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการ มีสภาพสมบูรณ์พร้อมสำหรับการจัดแสดง แต่วัตถุจัดแสดงบางชิ้นต้องมีการเสริมความมั่นคงเพื่อให้วัตถุจัดแสดงได้นานยิ่งขึ้น จึงได้มีการเตรียมวัตถุก่อนการจัดแสดงด้วยวิธีการหมุดผ้าบาติกบนบอร์ดจัดแสดง

วิธีการหมุดผ้าบาติกลงบอร์ดจัดแสดง

1. เตรียมบอร์ดจัดแสดงวางราบบนโต๊ะ ตรวจสอบบอร์ดจัดแสดงให้ถูกต้อง นำผ้าออกจากแกนและวางราบบนบอร์ดจัดผ้าให้อยู่กึ่งกลางบอร์ดโดยด้านข้างทั้ง 4 ด้านต้องมีพื้นที่ว่างเหลือเท่ากัน


2. การหมุดผ้าเลือกใช้เข็มหมุด (Insect pin ) ขนาด 000 เป็นเข็มขนาดเล็ก เข็มหมุด (Insect pin ) จะมีสีที่หัวเข็มแตกต่างกัน ในการเลือกใช้สีนั้นต้องมีความคลายคลึงกับสีผ้าบาติกผืนนั้น ใช้สีเดียวกันตลอดทั้งผืน ควรหมุดแนวทแยงขึ้นด้านบนเพื่อช่วยให้ผ้ายึดติดกับบอร์ดได้มากขึ้น และระยะห่างระหว่างการหมุดแต่ละครั้งควรมีระยะเท่ากัน

3. เมื่อหมุดผ้าเสร็จเรียบร้อย ทดสอบความแข็งแรงของวัตถุบนบอร์ดก่อนนำไปจัดแสดง โดยตั้งบอร์ดให้มีองศาเหมือนในตู้จัดแสดง ตรวจสอบวัตถุจัดแสดงอีกครั้งก่อนดำเนินการจัดเก็บ

4. นำผ้าไทเว็ก (Tyvek) คลุมปิดบอร์ดจัดแสดง จัดเก็บบอร์ดในชั้นวางสะอาดเพื่อรอดำเนินการขั้นตอนถัดไป

การติดตั้งวัตถุจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ

การติดตั้งวัตถุจัดแสดงในห้องนิทรรศการ จะต้องมีความระมัดระวังทั้งในการเคลื่อนย้ายและการติดตั้ง การดำเนินงานจะมีการวางแผนร่วมกันก่อนว่าติดตั้งวัตถุตู้จัดแสดงใด ตามลำดับ เมื่อติดตั้งเรียบร้อย จะมีการดูแลความสะอาดภายในตู้จัดแสดงก่อนทำการปิดตู้ การติดตั้งวัตถุในครั้งนี้เป็นการติดตั้งพร้อมกับถอดวัตถุจัดแสดงในคร่าวเดียวกัน

ขั้นตอนการติดตั้งวัตถุจัดแสดง

เตรียมวัตถุจัดแสดงที่จะทำการติดตั้งวางราบบนโต๊ะ คลุมด้วยผ้าไทเว็ก (Tyvek) เคลื่อนย้ายวัตถุมายังห้องนิทรรศการ ตรวจสอบบอร์ดวัตถุจัดแสดงก่อนทำการติดตั้ง นำบอร์ดวัตถุจัดแสดงที่ทำการถอดการติดตั้งกลับห้องอนุรักษ์เพื่อทำการจัดเก็บวัตถุ เมื่อติดตั้งวัตถุจัดแสดงเรียบร้อย ตรวจสอบความเรียบร้อยภายในตู้จัดแสดงก่อนทำการปิดตู้จัดแสดง

1. เคลื่อนย้ายวัตถุจัดแสดงไปยังห้องจัดนิทรรศการ ตรวจสอบบอร์ดวัตถุจัดแสดงก่อนทำการติดตั้ง


2. ติดตั้งวัตถุจัดแสดงเข้าภายในตู้จัดแสดง โดยทำการถอดวัตถุจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกฯ ครั้งที่ 1 ออก

3. ติดตั้งป้ายคำบรรยายวัตถุ วางที่ตำแหน่งกึ่งกลางของวัตถุ

4. ตรวจสอบวัตถุจัดแสดงและภายในตู้จัดแสดงก่อนทำการปิดตู้จัดแสดง

จัดแสงห้องนิทรรศการให้มีค่าแสงไม่เกินค่ามาตรฐาน

การจัดแสงในห้องนิทรรศการเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากแสงไฟนั้นมีผลต่อการเสื่อมสภาพของวัตถุเป็นอย่างมาก ค่าแสงที่เหมาะสมสำหรับวัตถุประเภทผ้าคือ ไม่เกิน 50 ลักซ์ การจัดแสงห้องนิทรรศการนี้จะใช้เครื่องวัดแสง ( Lux meter) ในการตรวจสอบค่าแสงให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด

ขั้นตอนการจัดแสงห้องนิทรรศการ

1. ตรวจสอบค่าแสงจัดแสดง ปรับเพิ่ม – ลด โคมให้แสงเพื่อให้แสงตกกระทบทั่ววัตถุจัดแสดง


2. ปรับเพิ่ม – ลด แสง โดยให้แสงตกกระทบกับวัตถุและทำให้วัตถุนั้นมีความสว่าง
3. วัดค่าแสงจัดแสดง โดยเครื่องวัดแสง (Lux meter) หงายด้านรับแสงขึ้นเพื่อให้สัมผัสกับแสงที่ตกกระทบลงมา จากนั้นดำเนินการตรวจสอบค่าแสงทั่วทั้งผืนผ้า โดยค่าแสงต้องไม่เกิน 50 ลักซ์ และภัณฑารักษ์จะเป็นผู้ตรวจสอบภาพรวมทั้งหมดของการจัดแสงในห้องนิทรรศการ

4. เมื่อตรวจสอบค่าแสงจัดแสดงเรียบร้อย ตรวจสอบความเรียบร้อยของวัตถุจัดแสงและภายในตู้จัดแสดงอีกครั้งก่อนทำการปิดตู้

การถอดวัตถุและจัดเก็บวัตถุจัดแสดง

การถอดวัตถุจัดแสดงนิทรรศการ ต้องตรวจสภาพของวัตถุก่อนทำการจัดเก็บ วิธีการจัดเก็บวัตถุที่ทำการถอดมานั้นจะทำการม้วนเก็บเข้าแกนกระดาษ นำเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการในขั้นตอนการทำความสะอาดวัตถุก่อนจะนำไปเก็บรักษาในห้องคลัง

ขั้นตอนการจัดเก็บวัตถุ

1. ตรวจสภาพวัตถุก่อนทำการถอนหมุดออก จากนั้นดำเนินการถอนหมุดที่ยึดติดกับบอร์ดออก


2. ม้วนผ้าเก็บเข้าแกนกระดาษ ใช้กระดาษไร้กรดรองและผูกด้วยริบบิ้น จากนั้นนำวัตถุเก็บเข้าตู้เก็บวัตถุเพื่อรอดำเนินการขั้นตอนต่อไป
3. บอร์ดที่ถอดวัตถุเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำมาทำความสะอาด ดูดฝุ่น จากนั้นจึงหุ้มด้วยพลาสติกใสและจัดเก็บในพื้นที่ที่กำหนด

การซ่อมสงวนและเตรียมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติกฯ ครั้งที่2 วัตถุจัดแสดงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ขั้นตอนการทำงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจ รวมไปถึงความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงาน วิธีการซ่อมสงวนและเตรียมวัตถุจัดแสดงที่มีความถูกต้องและหลากหลาย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานอนุรักษ์ ในการเลือกใช้ขั้นตอนวิธีการดำเนินงานต่างๆที่เหมาะสมกับวัตถุแต่ละประเภท ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

ในการซ่อมสงวนและเตรียมวัตถุในครั้งนี้ดำเนินการทั้งสิ้น 2 วิธี คือการรีดด้วยความร้อนและการใช้แผ่นกระจกทับ (Glass Weight) ในการเลือกวิธีการซ่อมสงวนและเตรียมวัตถุจัดแสดง ขึ้นอยู่กับวัตถุแต่ละชิ้นว่ามีความสามารถในการใช้วิธีดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ความแตกต่างของผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุ ซึ่งทั้งสองวิธีมุ่งเน้นผลลัพธ์ในทางเดียวกันคือการทำให้รอยพับทบหรือรอยยับในผืนผ้าจางหาย