×

บล๊อก  

การจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์ โดย นางสาวอริสรา อำนวยชัยเกิดลาภ, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์

การจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์

ในปัจจุบันการจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพิพิธภัณฑสถานต่างๆ เนื่องจากวัตถุนั้นมีคุณค่าและสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒธรรม ซึ่งรวบรวมความรู้ไว้อย่างมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งการจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์นั้นจะสามารถลดแนวโน้มการเสื่อมโทรมของวัตถุได้ ทำให้วัตถุเหล่านั้นสามารถมีอายุที่ยืนยาว และยังคงอยู่เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับบุคคลที่มีความสนใจในด้านนั้นๆ

พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งจัดเก็บและรวบรวมรักษาวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าวิจัยที่เป็นประโยชน์ วัตถุพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีอายุหลายร้อยปี วัตถุส่วนใหญ่จึงอยู่ในสภาพที่ชำรุด และเริ่มเสื่อมสภาพ เนื่องจากวัตถุบางชิ้นนั้นถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน หรืออาจขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษา หากการจัดเก็บวัตถุนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม ก็มีแนวโน้มที่วัตถุพิพิธภัณฑ์จะชำรุด และเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้น หากการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุได้

การจัดเก็บวัตถุนั้นมิใช่การจัดเก็บในพื้นที่ที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดูแลรักษา ตรวจสภาพของวัตถุก่อนการจัดเก็บ และการจัดการสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บ การจัดเก็บวัตถุแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมและตามหลักการของการอนุรักษ์วัตถุ นอกจากนั้นวัสดุที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุหรือวัสดุที่เสริมความแข็งแรงให้แก่วัตถุนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการเสื่อมสภาพต่อตัววัตถุพิพิธภัณฑ์ การจัดการอย่างเป็นระบบนี้จะทำให้การจัดเก็บวัตถุเข้าคลังพิพิธภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การอนุรักษ์วัตถุ

การอนุรักษ์วัตถุ คือ การจัดการกับวัตถุให้มีความสวยงาม แข็งแรง และลดแนวโน้มในการเสื่อมสภาพของวัตถุ
การอนุรักษ์สามารถแบ่งได้ 2 อย่าง คือ การอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive conservation) และการซ่อมสงวนรักษา (Restoration treatment)
1. การอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive conservation) เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้วัตถุเกิดการเสียหายหรือเสื่อมสภาพ ต้องมีความรู้และความเข้าใจในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพ การดูแลและเก็บรักษาวัตถุที่ดีจะต้องเป็นไปตามหลักการจริง เช่นการหยิบจับ เคลื่อนย้ายวัตถุที่ถูกต้อง การเลือกวิธีและวัสดุให้เหมาะสม การควบคุมสภาพแวดล้อมและความสะอาด โดยไม่ก่อให้วัตถุเกิดการเสื่อมสภาพมากขึ้น
2. การซ่อมสงวนรักษา (Restoration treatment) เป็นวิธีการปฏิบัติการอนุรักษ์วัตถุ ที่มีการลงมือปฏิบัติจริง มีการตรวจสอบหาสาเหตุของการเสื่อมสภาพ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ได้แก่ การกำจัดแมลง การกำจัดเชื้อรา การซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เป็นต้น

การแบ่งประเภทของวัตถุ สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 2 ชนิด โดยแบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต
1. อินทรียวัตถุ เป็นวัตถุที่มีการผลิตจากสิ่งมีชีวิต เช่นอินทรียวัตถุจากพืช ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ไม้ กระดาษ เป็นต้น อินทรียวัตถุที่ได้จากสัตว์ ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ งา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอินทรียวัตถุที่ได้จากการสังเคราะห์ ได้แก่ พลาสติก ฟิล์มภาพยนตร์ ผ้าใยสังเคราะห์ เป็นต้น อินทรียวัตถุเหล่านี้มักไม่ทนต่อสภาพแวดล้อม จึงสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นอินทรียวัตถุยังเป็นอาหารชั้นดีของหนู แมลงต่างๆ ทำให้ต้องมีการเอาใจใส่วัตถุเหล่านี้อยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นวัตถุอาจเลื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร
2. อนินทรียวัตถุ เป็นวัตถุที่มีการผลิตจากสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ หิน ดิน แร่ต่างๆ โลหะ เป็นต้น อนินทรียวัตถุจึงแข็งแรงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีแต่ก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิต เช่นเครื่องปั้นดินเผาและแก้ว มักไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่อความชื้น ความร้อน หรือแสงแดด แต่จะแตกหักได้ง่าย หรือโลหะบางชนิดมีความแข็งแรงมากแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อเกิดปฏิกิริยากับความชื้น ความร้อน แสงแดด หรือสารเคมี

สาเหตุการเสื่อมสภาพของวัตถุ

การเสื่อมสภาพของวัตถุพิพิธภัณฑ์สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายกระบวนการ ซึ่งอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเชิงกล ทางกายภาพ ทางเคมีและทางชีวภาพ เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์ จึงแบ่งสาเหตุการเสื่อมสภาพออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การเสื่อมสภาพที่เกิดจากสาเหตุภายในตัวเองของวัตถุ และการเสื่อมสภาพที่เกิดจากสาเหตุภายนอก
1. สาเหตุภายใน ถึงแม้ว่าจะไม่มีการทำให้วัตถุเสื่อมสภาพด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ภายในตัววัตถุเองนั้นสามารถเสื่อมสภาพได้ด้วยตัวเอง เช่น กระดาษที่ผลิตในสมัยโบราณมักเปื่อยกรอบ ไม่สามารถหยิบจับได้ ซึ่งเกิดจากสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ เป็นต้น
2. สาเหตุภายนอก เป็นการเสื่อมสภาพของวัตถุที่มีปัจจัยมาจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มนุษย์ แมลง อุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงและสามารถควบคุมได้ยาก ทำให้การเสื่อมสภาพเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
จะเห็นว่าการเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ วิธีการที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์วัตถุคือการลดแนวโน้มในการชำรุดหรือเสื่อมสภาพของวัตถุให้ได้มากที่สุด วิธีการป้องกันการเสื่อมสภาพจากสาเหตุเหล่านี้คือการจัดเก็บวัตถุตามหลักการอนุรักษ์ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย

การจัดการสภาพแวดล้อม

การจัดการสภาวะแวดล้อมในห้องที่ใช้เก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุ มีความสำคัญ เพราะสาเหตุการชำรุด เสื่อมสภาพของวัตถุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงต้องมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ การควบคุมความชื้น การควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่าง การรักษาความสะอาด และการควบคุมระบบหนุมเวียนอากาศ

การควบคุมความชื้น

การควบคุมความชื้นในห้องจัดเก็บวัตถุ เมื่อมีความชื้นสูงจะส่งผลให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในของวัตถุ

การควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่าง

ความร้อนที่เกิดแหล่งกำเนิดแสงเมื่อวัตถุได้รับความร้อนที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุได้ โดยเฉพาะอินทรียวัตถุ เช่น กระดาษ ผ้า ภาพถ่าย เป็นต้น ความร้อนยังมีผลให้แมลงและจุลินทรีย์เติบโตอย่างรวดเร็ว

การควบคุมระบบหมุนเวียนอากาศ

มีความจำเป็นมากเนื่องจากเป็นการระบายอากาศ ถ่ายเทอากาศ ไม่ให้มีการสะสมความชื้น แมลง หรือเชื้อรา ซึ่งอากาศที่หมุนเวียนนั้นต้องปราศจากฝุ่นละอองและมลพิษต่างๆ

การดูแลความสะอาด

การทำความสะอาดวัตถุและซ่อมแซมวัตถุเป็นกระบวนการหนึ่งในการอนุรักษ์ ซึ่งวัตถุแต่ละประเภทจะมีวิธีการดูแลทำความสะอาดที่แตกต่างกันไป

การจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ในคลังวัตถุ

วิธีการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก สภาพความชำรุด รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของวัตถุ ดังนั้นการจัดเก็บวัตถุควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุพิพิธภัณฑ์ออกไปให้มากที่สุด

วัสดุที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์

การเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากวัสดุเหล่านี้จะสัมผัสกับวัตถุเป็นเวลานานถ้าหากการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้วัตถุเกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร ถ้าหากเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมก็จะสามารถยืดระยะเวลาการเสื่อมสภาพของวัตถุออกไปได้ วัสดุที่ควรใช้ในการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ มีดังนี้

ไม้ เนื่องจากไม้ดูดซึมความชื้นได้ดี จึงสามารถรักษาความชื้นภายในตู้หรือห้องให้คงที่ได้ แต่ไม้นั้นดึงดูดแมลงและเชื้อราได้ดี นอกจากนั้นเมื่อเกิดความชื้นสูงมากจะเกิดคราบสีเหลือง – สีน้ำตาล บนวัตถุได้ จึงไม่ควรใช้งานให้สัมผัสกับวัตถุพิพิธภัณฑ์โดยตรง หากจำเป็นต้องใช้ควรปกป้องวัตถุพิพิธภัณฑ์ด้วยการห่อหุ้มด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุ
กระดาษ เป็นวัสดุที่จำเป็นมากในการเก็บรักษาวัตถุ เพื่อใช้ห่อหุ้ม ปู รอง ฯลฯ กระดาษจำพวก กระดาษหนังสือพิมพิ์ กระดาษห่อของ มีฤทธิ์เป็นกรดและมักเปลี่ยนสี ไม่ควรนำมาใช้กับวัตถุ ควรเลือกกระดาษที่ไม่มีกรด ลิกนิน เป็นต้น ซึ่งกระดาษที่ไม่มีความเป็นกรดนั้น จะเพิ่มความเป็นกรดขึ้นที่ละน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เพราะฉะนั้นเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ควรตรวจสอบความเป็นกรดและเปลี่ยนกระดาษ
แก้วและกระจก ไม่เป็นอันตรายต่อวัตถุพิพิธภัณฑ์ มีความแข็งแรงและทนต่อสภาพอากาศ สารเคมี แต่แตกหักได้ง่าย ในพิพิธภัณฑ์นิยมใช้ทำตู้จัดแสดง
พลาสติก มีความเหมาะสมในการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขณะการใช้งาน ไม่มีกลิ่นเหม็น พลาสติกควรเหนียวและแข็งแรง ควรเลือกพลาสติกใสเพื่อที่จะสามารถมองเห็นวัตถุได้ง่าย
โลหะ ใช้ในการทำตู้เก็บวัตถุหรือลิ้นชัก เนื่องจากสามารถรับน้ำหนักได้ดี ทนต่อแมลงและรา สามารถปิดได้สนิท แต่สามารถเกิดสนิมได้ง่าย

ขั้นตอนการจัดเก็บวัตถุเข้าคลังพิพิธภัณฑ์

วัตถุพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นฉลองพระองค์และเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากได้ทำหนังสือขอพระราชานุญาตเพื่อขอพระราชทานฉลองพระองค์และเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดงนิทรรศการหรือจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่ได้รับบริจาค ซื้อขาย รวมถึงการยืมจากหน่วยงานต่างๆและบุคคลภายนอก ต้องมีการตรวจสภาพวัตถุก่อนการนำเข้ามาจัดเก็บภายในพิพิธภัณฑ์ มีวิธีการดำเนินการดังนี้ เมื่อมีการรับวัตถุเข้าภายในพิพิธภัณฑ์ จะมีการดูแลและทำความสะอาดวัตถุ และนำส่งให้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทำการตรวจสภาพวัตถุและบันทึกข้อมูลก่อนการจัดเก็บ นำวัตถุส่งคืนเจ้าหน้าที่ทะเบียนเพื่อบันทึกภาพและเตรียมจัดเก็บวัตถุเข้าสู่ห้องคลัง

การตรวจสภาพวัตถุก่อนการรับเข้าพิพิธภัณฑ์

ต้องมีการตรวจสภาพวัตถุก่อนการรับเข้า โดยผ่านการเห็นชอบจากผู้อำนวยการ ภัณฑารักษ์ และแผนกอนุรักษ์ทะเบียน ก่อนที่จะรับเข้ามาดำเนินการต่อในพิพิธภัณฑ์

การทำความสะอาดวัตถุ

แช่แข็งวัตถุเพื่อกำจัดแมลงที่ติดมาจากภายนอก จากนั้นดูดฝุ่นวัตถุ หากตรวจสภาพเบื้องต้นแล้วพบว่ามีเชื้อราต้องทำการดูดเชื้อราออกก่อนทำการแช่แข็งวัตถุ มีขั้นตอนดังนี้
1. บันทึกภาพแรกเข้าก่อนทำความสะอาดวัตถุ
2. ใช้พลาสติกใสหรือถุงซิปล็อก ห่อหุ่มวัตถุก่อนทำการแช่เย็นวัตถุ โดยใช้เวลาในการแช่วัตถุ 7 วัน
3. ทำความสะอาดวัตถุโดยการดูดฝุ่น

ตรวจสภาพวัตถุที่รับเข้าและบันทึกข้อมูล

ตรวจสอบสภาพวัตถุโดยรวม สำรวจความสมบูรณ์ของวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะเป็นผู้ประเมินสภาพวัตถุ โดยบันทึกลงในแบบบันทึก หากวัตถุที่รับเข้ามานั้นมีความชำรุด เสียหาย จะมีการซ่อมสงวนก่อนการจัดเก็บ จากนั้นจึงนำส่งคืนเจ้าหน้าที่ทะเบียนเพื่อดำเนินการต่อไป

ก่อนการเตรียมจัดเก็บวัตถุเข้าคลังพิพิธภัณฑ์

1. บันทึกภาพหลังการตรวจสภาพวัตถุสำหรับการทำทะเบียนวัตถุ
2. บันทึกข้อมูลของวัตถุลงแบบบันทึก เพื่อทำการจัดเก็บลงในฐานข้อมูลต่อไป
3. ให้เลขทะเบียนแก่วัตถุที่รับเข้า
4. จัดทำถาดหรือกล่องรองรับวัตถุ โดยเลือกใช้วัสดุให้เหมาะกับงานและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัตถุ

การจัดเก็บวัตถุเข้าคลังพิพิธภัณฑ์

วัตถุแต่ละประเภทมีวิธีการจัดเก็บเข้าคลังพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของวัตถุด้วย การจัดเก็บวัตถุที่ถูกวิธีจะสามารถช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุได้ วัตถุแต่ละประเภทมีวิธีการจัดเก็บที่แตกต่างกันดังนี้

1. ฉลองพระองค์

การจัดเก็บฉลองพระองค์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีด้วยกันอยู่ 2 วิธี คือ การแขวนและการวางราบ โดยวัตถุนั้นจะถูกประเมินสภาพโดยเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ วิธีการจัดเก็บจะขึ้นอยู่กับการประเมินและเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ เนื่องจากฉลองพระองค์แต่ละชุดนั้นมีสภาพหรือความสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน

การจัดเก็บฉลองพระองค์แบบแขวน การจะจัดเก็บด้วยวิธีนี้ได้นั้นวัตถุต้องอยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์และต้องมีน้ำหนักเบา โดยการจัดเก็บแบบแขวนนั้นต้องมีการใช้นวมไม้แขวนเพื่อช่วยให้ฉลองพระองค์อยู่ทรง, รองรับน้ำหนักของฉลองพระองค์ และลดการสัมผัสกรดหรือรอยขีดข่วนจากไม้แขวน นอกจากนั้นยังมีถุงใส่ฉลองพระองค์เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกต่างๆ รวมถึงหากมีการหลุดของส่วนที่ประดับบนฉลองพระองค์ เช่น ลูกปัด เลื่อม ฯลฯ จะได้ไม่สูญหาย และยังสะดวกในการเคลื่อนย้ายวัตถุ จากนั้นเก็บฉลองพระองค์เข้าตู้เก็บวัตถุโดยติดรูปฉลองพระองค์เข้ากับถุงใส่ฉลองพระองค์ เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ

การจัดเก็บฉลองพระองค์แบบวางราบ การจัดเก็บด้วยวิธีนี้นั้นเกิดจากวัตถุมีความแข็งแรงไม่มากพอ หรืออาจเกิดการชำรุดเสียหาย การวางราบนั้นจะใช้กล่องกระดาษไร้กรดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้รองรับฉลองพระองค์ โดยจะมีการวางแผ่นกระดาษไร้กรด (Acid free) รองด้านล่างของกล่องก่อนที่จะนำวัตถุวางลงไปและปิดทับด้วยแผ่นกระดาษไร้กรด (Acid free) อีกครั้ง ภายในบรรจุภัณฑ์หนึ่งกล่อง สามารถบรรจุฉลองพระองค์ได้มากกว่า 1 ชุด แต่การที่จะวางฉลองพระองค์ทับซ้อนกันนั้น ต้องคำนึงถึงน้ำหนักของฉลองพระองค์แต่ละชุดด้วย ส่วนด้านในใช้กระดาษหรือตัวหนุนเพื่อให้วัตถุคงรูป

2. พระมาลา

การจัดเก็บพระมาลาควรวางบนแท่นวางหมวก หรือหัวหุ่น อาจใช้กระดาษไร้กรด (Acid free) ขยำเป็นก้อนและบรรจุไว้ด้านใน การเลือกวิธีการจัดเก็บขึ้นอยู่กับวัตถุและพื้นที่ในการจัดเก็บ
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บพระมาลาโดยการจัดทำแท่นวางพระมาลา จัดทำโดยการเหลาโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) ให้เป็นทรงกลมพอดีกับพระมาลา จากนั้นหุ้มด้วยใยโพลีเอสเตอร์และผ้าฝ้าย มีการทำฐานรองแท่นวางพระมาลาเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย

3. ถุงพระหัตถ์

จัดเก็บถุงพระหัตถ์ลงในบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง ด้านล่างรองด้วยโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) จัดทำตัวคั่นถุงพระหัตถ์โดย เจาะรูด้านปลายเพื่อร้อยเทปก้างปลา ด้านในถุงพระหัตถ์มีการรองด้วยตัวหนุน เพื่อให้ถุงพระหัตถ์ไม่เสียรูปและเกิดการยับย่น

4. ฉลองพระบาท

การจัดเก็บฉลองพระบาทควรจัดเก็บในกล่องหรือชั้นวางรองเท้า ไม่ควรวางทับซ้อนกันเนื่องจากอาจทำให้รองเท้าเกิดการเสียรูปทรงได้
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บฉลองพระบาทโดยการเหลาโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) ให้เป็นรูปทรงฉลองพระบาท นำผ้าไทเว็ก (Tyvek) หุ้มบริเวณที่สัมผัสกับฉลองพระบาท จากนั้นร้อยเทปก้างปลาเข้ากับแท่นวาง สำหรับยึดติดฉลองพระบาทไม่ให้เคลื่อนที่ หรือหลุดออกจากแท่นวาง นำแท่นวางฉลองพระบาทยึดติดกับกล่องกระดาษไร้กรด

ภายในตู้จัดเก็บฉลองพระบาทจะรองด้วยโฟม (Foam) ในการวางฉลองพระบาทแต่ละคู่นั้นจะมีการคั่นด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free)

5. หีบกระเป๋าเดินทาง

การจัดเก็บหีบกระเป๋าเดินทาง ควรจัดเก็บในพื้นที่ที่ไม่โดนแสงแดด และน้ำ ไม่ควรวางวัตถุกับพื้นโดยตรง ควรรองด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพ และอันตรายต่อวัตถุ คลุมด้วยผ้าไทเว็ก (Tyvek) ผ้าฝ้าย หรือผ้าพลาสติก อย่างหลวมๆ

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บกระเป๋าเดินทาง โดยการจัดทำฐานรองวัตถุด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free) ตัดผ้าไทเว็ก (Tyvek) เป็นถุงเปิดด้านหน้า โดยเจาะรูร้อยเชือกทั้งสองข้าง เพื่อสะดวกในตรวจสอบและใช้งาน

6. ผ้า

การจัดเก็บผ้าควรจัดเก็บในพื้นที่ที่ปิดสนิท ปราศจากฝุ่น แมลง และสิ่งสกปรก การเก็บผ้าสามารถจัดเก็บได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุและพื้นที่ในการจัดเก็บ

ผ้าผืน พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บผ้าผืน ด้วยวิธีการม้วนเก็บบนแกนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนกระดาษนั้นบริเวณแกนกระดาษจะหุ้มด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free) จากนั้นจึงนำมาม้วนผ้าเก็บ การม้วนนั้นต้องระวังไม่ให้ผ้านั้นเกิดการยับย่น ผูกด้วยริบบิ้นและเก็บเข้าชั้นวางวัตถุ หากมีความจำเป็นต้องพับผ้าหรือมีการซ้อนทับกันของผ้าในการจัดเก็บ ควรหนุนวัตถุด้วยก้อนหนุน เพื่อไม่ให้ผ้าทับกันจนเสียรูปทรง และในการวางผ้าแต่ละผืนนั้นต้องมีการคั่นด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free)


การหนุนวัตถุด้วยก้อนหนุนที่ทำจากใยโพลีเอสเตอร์

ผ้าสไบ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการเก็บผ้าสไบ โดยการรีดพับจีบด้วยไฟอ่อน 125-135 องศาเซลเซียส และห่อด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free) ผูกด้วยริบบิ้น จากนั้นจัดเก็บในตู้เก็บวัตถุที่ปิดมิดชิด
ผ้าปัก พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บผ้าปัก โดยการจัดทำกล่องกระดาษไร้กรด ด้านล่างตัวกล่องรองด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free) ก่อนวางวัตถุลงในกล่อง ถ้าหากวัตถุมีจำนวนหลายชิ้น ให้นำกระดาษไร้กรด (Acid free) วางขั้นระหว่างวัตถุแต่ละชิ้น

7. เครื่องเงิน

วัตถุประเภทเครื่องเงินสามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เมื่อสัมผัสกับอากาศและเกลือจากดิน ยิ่งเมื่อมีความชื้นสูงจะเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การจัดเก็บวัตถุประเภทเครื่องเงินควรจัดเก็บในวัสดุที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บเครื่องประดับเงิน โดยการจำทำกล่องกระดาษไร้กรดแบบฝาปิด ด้านในกล่องวางโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) เพื่อรองรับวัตถุ มีการคั่นวัตถุด้วยกระดาษไร้กรด

8. เครื่องไม้หรือเครื่องจักสาน

วัตถุประเภทเครื่องไม้หรือเครื่องจักสาน มักเกิดการเปลี่ยนแลงได้ตามอุณหภูมิและความชื้น รวมไปถึงปัญหาเรื่องแมลงต่างๆ การจัดเก็บวัตถุประเภทนี้ควรเก็บในพื้นที่ที่ปิดมิดชิด อาจมีการห่อหุ้มด้วยกระดาษไร้กรดก่อนการจัดเก็บ ไม่ควรวางวัตถุกับพื้นโดยตรง ควรมีฐานรองที่เหมาะสม

เครื่องไม้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บครื่องไม้ โดยการเหลาโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) สำหรับวางวัตถุ จากนั้นนำแท่นโฟมยึดติดกับฐานรองที่ทำจากกระดาษไร้กรด เก็บวัตถุในตู้เก็บวัตถุที่ปิดมิดชิด

ฟีม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บฟีม โดยการทำแท่นวางเหลาโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) ให้เป็นรูปร่างของวัตถุ เจาะรูที่แท่นวางเพื่อร้อยเชือกผูกยึดไม่ให้วัตถุเคลื่อนที่ นำแท่นวางวัตถุยึดติดกับกระดาษไร้กรดที่มีขนาดใหญ่กว่าแท่น ด้านข้างของกระดาษไร้กรดทำที่จับสำหรับหยิบจับและเคลื่อนย้าย

เครื่องจักสาน พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บเครื่องจักสาน โดยการเหลาโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) สำหรับวางวัตถุ เจาะรูร้อยเชือกเพื่อยึดวัตถุไม่ให้เคลื่อนที่ จากนั้นนำแท่นโฟมยึดติดกับฐานรองที่ทำจากกระดาษไร้กรด ถ้าหากวัตถุมีฝาที่สามารถ เปิด-ปิด ได้ ให้คั่นด้วยผ้าไทเว็ก (Tyvek) เพื่อป้องกันการเสียดสีของวัตถุ

9. เครื่องใช้ทั่วไป

หมอนขิด พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บโดย การทำแท่นรองจากโฟมชนิดแข็ง (Ethafoam) เพื่อรองรับวัตถุ เจาะรูร้อยเชือกบริเวณแท่นวางวัตถุเพื่อยึดวัตถุไม่ให้ขยับหรือหลุดออกจากแท่น จากนั้นยึดแท่นโฟมกับกระดาษไร้กรดที่ขนาดพอดีกับแท่นโฟม จัดเก็บในกล่องกระดาษไร้กรดที่จัดทำเป็นช่องแบ่งเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและประหยัดพื้นที่จัดเก็บ

ใบปริญญาบัตร ควรจัดเก็บในตู้ กล่อง ลิ้นชัก ซอง เป็นต้น วัสดุที่ใช้ในการเก็บรักษาวัตถุต้องปราศจากกรด หรือ ลิกนิน ไม่ควรใช้เทปกาวที่วางขายตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปให้การซ่อมแซมวัตถุ หรือจัดทำบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดคราบเหนียว ซึ่งเป็นอันตรายต่อวัตถุและทำความสะอาดออกได้อยาก

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯดำเนินการจัดเก็บทำแผ่นรองวัตถุ โดยการใช้มิวเซียมบอร์ด (Museum board) ตัดให้มีขนาดใหญ่กว่าวัตถุเล็กน้อย ด้านมุมทั้ง 4 ด้าน ทำมุมสามเหลี่ยมเพื่อรองรับด้านมุมของใบปริญญาบัตร ตัดกล่องกระดาษไร้กรด ตัวกล่องด้านหน้าจัดทำแบบลิ้นเพื่อให้สามารถใช้งาน และเก็บวัตถุได้ง่าย วางแผ่นรองวัตถุในกล่องกระดาษไร้กรดและคั่นด้วยกระดาษไร้กรดก่อนวางวัตถุทับซ้อนกัน

เบาะรองนั่ง ควรจัดเก็บในกล่องปิดมิดชิด วัสดุที่ใช้ในการเก็บรักษาต้องไร้กรด หรือลิกนิน ไม่ควรวางวัตถุลง บบพื้นโดยตรง ไม่ควรวางวัตถุอื่นทับลงบนเบาะรองนั่ง เนื่องจากจะทำให้เบาะรองนั่งนั้นเสียรูปทรง
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดำเนินการจัดเก็บ โดยการตัดกล่องกระดาษไร้กรดแบบฝาปิด และเจาะรูร้อยเชือกด้านข้างของตัวกล่อง เพื่อยึดฝากล่องไม่ให้เปิดออก ด้านในกล่องรองด้วยกระดาษไร้กรด (Acid free) ก่อนวางวัตถุ

การดูแลและจัดเก็บวัตถุต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ควรมีความรู้ ความเข้าใจ ในสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งการจัดเก็บวัตถุประเภทต่างๆ เหล่านี้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาพวัตถุ ขนาดและน้ำหนักของวัตถุ สภาพแวดล้อมในการจัดเก็บ เป็นต้น เมื่อการจัดเก็บวัตถุถูกต้องตามหลักการต่างๆ แล้วนั้น ยิ่งส่งผลดีแก่วัตถุเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่อง การชะลอการเสื่อมสภาพ การป้องกันวัตถุจากอันตรายต่างๆ ฯลฯ พิพิธภัณฑสถานแต่ละแห่งนั้นจะมีการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทวัตถุ พื้นที่ในการจัดเก็บ และสภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งการที่จะชะลอการเสื่อมสภาพของวัตถุนั้น มิใช่แค่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์เป็นผู้ปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียว แต่หากรวมถึงผู้เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและสัมผัสวัตถุด้วย