×

บล๊อก  

สัญลักษณ์ข้างบรรจุภัณฑ์สำหรับเคลื่อนย้ายวัตถุที่ควรรู้ ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

สถานที่

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แชร์

สัญลักษณ์ข้างบรรจุภัณฑ์สำหรับเคลื่อนย้ายวัตถุที่ควรรู้

นอกจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนจะมีหน้าที่ดูแลวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการขนส่งวัตถุไปที่ต่างๆ ซึ่งบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุวัตถุขณะเคลื่อนย้ายก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันวัตถุไม่ให้เกิดความเสียหายระหว่างการเดินทางด้วย

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ร่วมกับสถานทูตสหรัฐฯ จัดนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐฯ วัตถุกว่า ๒๐๐ ชิ้นถูกจัดวางลงในกล่องบรรจุภัณฑ์ส่งมาจากสหรัฐฯ ซึ่งกล่องเหล่านี้มีฉลากและเครื่องหมายสัญลักษณ์ของการขนส่ง (Shipping Mark) ปรากฏอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์หลากหลายแบบ บางแบบก็เป็นที่คุ้นตากันอยู่แล้ว แต่บางแบบก็ไม่ทราบว่าสัญลักษณ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร บทความนี้จึงได้รวบรวมฉลากและสัญลักษณ์ข้างบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งวัตถุมาให้ได้เลือกใช้กันค่ะ

๑. ตราสัญลักษณ์ IPPC และ ISPM15

IPPC (International Plant Protection Convention) เป็นชื่อของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการอารักขาพืชระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่งป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ของประเทศเหล่านั้น ซึ่งอนุสัญญานี้ประกอบด้วยข้อกำหนดหลายฉบับด้วยกัน แต่ฉบับที่ใช้ควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออกระหว่างประเทศ คือฉบับ ISPM 15 (International Standards for Phytosanitary Measures No. 15) เพราะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ขนส่งไปต่างประเทศส่วนใหญ่ทำจากไม้ อาจเป็นไปได้ว่ามีศัตรูพืชบางประเภทอาศัยอยู่ เช่น มอดยาสูบ (Anobiidae) มอดหัวไม้ขีด (Bostrichidae) แมลงทับ ด้วงเจาะไม้ (Buprestidse) ด้วงหนวดยาว (Cerambycidae) ด้วงงวง (Curculionidae) ปลวก (Isoptera) และมอดไม้ (Scolytidae) เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานวิธีในการควบคุมกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ เช่น การอบด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 56 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที (Heat Treatment) และรมด้วยสารเคมีเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide Fumigation) ตามอัตราเวลาและความเข้มข้นที่กำหนด รวมทั้งข้อปฏิบัติเพื่อขอใบรับรอง หรือขอประทับตราเครื่องหมายรับรองบนบรรจุภัณฑ์ด้วย

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำ ISPM 15 มาบังคับใช้ แต่ระดับความเข้มงวดแตกต่างกัน บางประเทศที่ยังไม่เข้มงวดมากนัก ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอาจแค่ได้รับการแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สำหรับประเทศที่ดำเนินการอย่างเข้มงวด อาจกักกันสินค้า เผา ส่งคืน หรือฝังทำลายได้ หากวัสดุบรรจุภัณฑ์นั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

๒. เครื่องมือวัดการกระแทกระหว่างขนส่ง (Do not Drop : Monitor Shipment)

เครื่องมือวัดการกระแทกนี้ มักใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการความระมัดระวังเป็นพิเศษในระหว่างการขนส่ง โดยนำป้ายพลาสติกไปติดไว้กับกล่องบรรจุภัณฑ์ โดยปกติเครื่องหมายลูกศรจะเป็นสีแดง แต่ถ้าเกิดการกระแทกจากการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธี ลูกศรที่ป้ายพลาสติกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ

๓. เครื่องมือวัดความลาดเอียงของบรรจุภัณฑ์ (Tip N Tell : Monitor Shipment)

ป้ายลูกศรที่บรรจุเม็ดพลาสติกสีฟ้านี้ เป็นเครื่องมือวัดความลาดเอียงของบรรจุภัณฑ์ สำหรับการขนส่งปกติ เม็ดพลาสติกจะอยู่บริเวณฐานของลูกศรและหัวลูกศรจะเป็นสีขาว แต่ถ้าเม็ดสีฟ้าขึ้นไปถึงด้านบนของหัวลูกศร หมายถึงการขนส่งที่ผิดวิธีและกล่องบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ตั้งตรงตลอดเวลา

๔. รูปแก้ว

หมายถึงวัตถุที่ต้องระมัดระวังและได้รับการดูแลเป็นพิเศษ บรรจุภัณฑ์บางชิ้นอาจมีคำว่า Fragile ใต้รูปหรืออาจจะไม่มีก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์คำว่า Fragile ไว้รอบๆ บรรจุภัณฑ์โดยไม่มีรูปแก้วก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบสัญลักษณ์รูปมือแทนความหมายว่าให้ระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย

๕. รูปร่ม

คือสัญลักษณ์ของการดูแลบรรจุภัณฑ์ให้แห้งเสมอ ห้ามเปียกชื้น

๖. รูปอาคารและพระอาทิตย์

หมายถึงให้ระมัดระวังความร้อน ไม่จัดเก็บบรรจุภัณฑ์ภายนอกอาคาร

๗. รูปลูกศรชี้ขึ้น

หมายถึงด้านนี้ตั้งขึ้นตรงอยู่เสมอ กล่องบรรจุภัณฑ์รูปสี่เหลี่ยมสามารถวางตั้งได้หลายแบบ ซึ่งในบางครั้งผู้ขนส่งอาจจะวางกลับด้านบนลงด้านล่าง ทำให้วัตถุเสียหายได้

๘. รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางซ้อนเรียงกันมีเลขหมายกำกับและรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเครื่องหมายกากบาททับ

สัญลักษณ์นี้หมายถึงการวางบรรจุภัณฑ์ซ้อนกัน โดยแบบที่มีหมายเลขกำกับ หมายถึงสามารถวางบรรจุภัณฑ์ซ้อนกันได้ ตามจำนวนเลขนั้นๆ เช่น มีเลข 3 กำกับ หมายถึงสามารถซ้อนกันได้ 3 กล่อง ส่วนที่มีเครื่องหมายกากบาททับนั้นมีความหมายตรงกันข้ามคือ ห้ามวางบรรจุภัณฑ์ซ้อนกัน

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์นั้นเป็นกล่องที่เท่าไร มีขนาดเท่าใด รวมถึงมีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของผู้ส่งและผู้รับติดไว้หน้าบรรจุภัณฑ์ด้วย


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานทะเบียนเบื้องต้น หน้าที่ของงานทะเบียน และการดูแลวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ได้ที่

งานทะเบียนเบื้องต้น : รู้จักงานทะเบียน และหน้าที่ของงานทะเบียน