×

บล๊อก  

งานทะเบียนเบื้องต้น : รู้จักงานทะเบียน และหน้าที่ของงานทะเบียน ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

สถานที่

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แชร์

งานทะเบียนเบื้องต้น : รู้จักงานทะเบียน และหน้าที่ของงานทะเบียน

นอกจากการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แล้ว การทำทะเบียนและการจัดเก็บวัตถุในห้องคลังก็เป็นอีกหนึ่งงานเบื้องหลังที่สำคัญเช่นกัน หน้าที่หลักของงานทะเบียนเปรียบได้กับหน่วยเก็บความทรงจำของวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ เพราะเจ้าหน้าที่ทะเบียนมีหน้าที่บันทึกเรื่องราวของวัตถุทุกชิ้น เช่น คุณลักษณะ ขนาด สภาพวัตถุ ผู้ผลิต ตลอดจนประวัติและแหล่งที่มา ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะวัตถุบางชิ้นผู้ครอบครองอาจไม่ทราบว่าได้รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทะเบียนจึงต้องซักถามและทำเอกสารเพื่อรับรองว่าวัตถุดังกล่าวปราศจากภาระผูกพัน การดำเนินคดี และขัดต่อข้อกฎหมายใดๆ ก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ทะเบียนนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ภัณฑารักษ์ส่งมอบวัตถุให้ เราสามารถแบ่งที่มาของวัตถุได้เป็น 2 ประเภท คือ ฉลองพระองค์และเครื่องใช้ส่วนพระองค์ โดยภัณฑารักษ์จะเป็นผู้คัดเลือกฉลองพระองค์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของนิทรรศการที่กำลังจะจัดแสดง และทำหนังสือขอพระราชานุญาตไปยังกองราชเลขาธิการในพระองค์ เพื่อขอพระราชทานเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดเก็บภายในพิพิธภัณฑ์ อีกประเภทก็คือวัตถุทั่วไป ซึ่งอาจได้รับมาด้วยการบริจาค ซื้อขาย หรือยืมจากบุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานอื่น โดยวัตถุทุกชิ้นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจรับวัตถุ ประกอบด้วยผู้อำนวยการ ภัณฑารักษ์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ทะเบียนก่อนนำเข้ามาดำเนินการในพิพิธภัณฑ์ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะนำวัตถุมาทำความสะอาดด้วยการแช่แข็งและดูดฝุ่น เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลงที่อาจจะติดมาจากภายนอก และจัดทำเอกสารบันทึกรายละเอียดของวัตถุนั้นๆ ก่อนนำส่งให้นักอนุรักษ์เพื่อตรวจสภาพวัตถุ หลังจากนั้นวัตถุจะถูกส่งกลับมายังเจ้าหน้าที่ทะเบียนอีกครั้งเพื่อบันทึกภาพและจัดเตรียมวัตถุก่อนจัดเก็บในห้องคลัง ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการงานทะเบียนคือ กรอกรายละเอียดทั้งหมดลงฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อความเป็นระเบียบและสามารถค้นหาข้อมูลภายในได้อย่างสะดวก


ขณะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทะเบียน


เจ้าหน้าที่ทะเบียนกำจัดแมลงด้วยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 14 วัน

งานส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ทะเบียน นอกจากเรื่องการรับวัตถุเข้าและบันทึกรายละเอียดของวัตถุแล้ว ยังรับผิดชอบดูแลเรื่องการยืมคืน การบรรจุและการขนส่งวัตถุไปยังที่ต่างๆ การทำประกันภัย และการทำแผนฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงจัดเก็บวัตถุในห้องคลังให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล เรียกได้ว่ามีวัตถุอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่ทะเบียนต้องอยู่ที่นั่น ดูแลวัตถุตั้งแต่แรกรับเข้าจนถึงจัดส่งออกจากพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว

ดูเหมือนว่างานทะเบียนจะเป็นงานค่อนข้างง่าย แค่คอยดูแลและเฝ้าระวังวัตถุไม่ให้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป็นงานที่มีรายละเอียดมากพอสมควร งานทะเบียนจึงเหมาะสำหรับคนที่ชอบงานแบบกิจวัตรประจำวัน เป็นงานประจำที่มีให้ทำซ้ำๆ กันทุกวัน โดยไม่เบื่อหน่าย ชอบทำงานเอกสาร มีความรอบคอบและเป็นระเบียบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถนำหลักของงานทะเบียนไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น จัดเก็บของให้มีระเบียบเพื่อให้สะดวกต่อการค้นหา ป้องกันไม่ให้เกิดของใช้เกิดความชำรุด และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนกันได้แล้วค่ะ