×

บล๊อก  

การให้เลขทะเบียนวัตถุ ฝ่ายอนุรักษ์และทะเบียน

การให้เลขทะเบียนวัตถุ

เลขทะเบียนวัตถุเปรียบเสมือนหมายเลขประจำตัวของวัตถุชิ้นนั้น เมื่อรับวัตถุเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ทะเบียนควรทำคือการให้เลขวัตถุ หนึ่งหมายเลขต่อวัตถุหนึ่งชิ้น ไม่ควรให้เลขซ้ำซ้อนกันเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งแต่ละพิพิธภัณฑ์มีระบบการให้เลขทะเบียนวัตถุที่แตกต่างกันออกไป

ระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามมาตรฐานสากล คือระบบเลขสามหลัก เพราะเป็นระบบที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการเรียบเรียงและจัดการข้อมูลด้วยฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยระบบเลขสามหลักนี้ประกอบด้วย

เลขปี พ.ศ.หรือ ค.ศ. ที่ได้รับวัตถุ . จำนวนครั้งที่ได้รับมาในปีนั้น . เป็นวัตถุชิ้นที่เท่าไรจากทั้งหมด

เลขทะเบียนวัตถุในระบบเลขสามหลักตามมาตรฐานสากล

เช่น ฉลองพระองค์หมายเลข 2013.4.6A หมายถึง ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับฉลองพระองค์องค์นี้มาในปี ค.ศ.๒๐๑๓ หรือ พ.ศ.๒๕๕๖ และได้รับวัตถุมาเป็นครั้งที่ ๔ ภายในปีนั้น โดยวัตถุชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ ๖ นับจากทั้งหมดคือ ๕๐ องค์ที่ได้รับมาในครั้งที่ ๔ ส่วนตัวอักษรด้านหลังสุดที่เพิ่มมา มักใช้กับวัตถุที่มาเป็นชุดหรือมีส่วนประกอบหลายชิ้น เช่น ฉลองพระองค์ที่ประกอบด้วยฉลองพระองค์คลุม ฉลองพระองค์ พระภูษาทรง รัดพระองค์ และพระมาลา จึงเพิ่มตัวอักษร A B C D ตามลำดับ

ฉลองพระองค์ที่ประกอบด้วยวัตถุหลายชิ้น

ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ใช้ระบบเลขสามหลักในการให้เลขทะเบียนวัตถุเช่นกัน โดยเริ่มจากพิจารณาว่าวัตถุชิ้นนั้นเป็นวัตถุที่ได้รับมาถาวรหรือชั่วคราว หากเป็นวัตถุที่ได้รับมาถาวร สามารถให้เลขตามแนวทางที่ได้กล่าวไว้ได้ แต่ถ้าเป็นวัตถุที่ได้รับมาชั่วคราว จะใช้ตัวอักษรนำหน้าเลขวัตถุเพื่อแยกประเภทของวัตถุเหล่านั้น เช่น วัตถุที่ยืมมาเพื่อจัดแสดง ใช้ L (Loan) นำหน้า วัตถุที่จัดทำขึ้นใหม่โดยเลียนแบบวัตถุเดิม ใช้ RE (Reproduction) นำหน้า หรือวัตถุที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะรับเป็นวัตถุถาวรหรือไม่ ใช้ T (Temporary) เป็นต้น

ระบบการให้เลขทะเบียนวัตถุนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น บางพิพิธภัณฑ์อาจมีระบบและการจัดการวัตถุที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือระบบนั้นควรเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และเหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติของแต่ละพิพิธภัณฑ์